นายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ กล่าวในงานเสวนาโต๊ะกลม Geopolitics 2025 | TRUMP 2.0 : The Global Shake Up ว่า นโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ หลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่าเงป็นทางการ เป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญกับสหรัฐฯ ปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และสกัดการแผ่อำนาจของจีน ส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการแบ่งขั้วในเรื่องเทคโนโลยีชั้นสูงที่เป็นการทำสงครามการค้าที่รุนแรง
สำหรับประเทศไทยต้องปรับตัวอย่างมากเพราะพึ่งพาการส่งออก ซึ่งจะต้องเจรจาผ่านล็อบบี้ยิสต์เพื่อขอจำกัดอัตราภาษีเฉพาะกลุ่มสินค้า ไม่ให้ส่งผลกระทบรุนแรง มีมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ และถูกบังคับให้นำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ
กรณีผู้ประกอบการจีนย้ายฐานการผลิตมาไทยอาจถูกจับตามองเรื่องการหลบเลี่ยงภาษี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในภาพรวม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีแผนรับมือในเรื่องการลงทุนด้วย โดยต้องเร่งสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลที่มีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายของสหรัฐ การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มีความยืดหยุ่น การรักษาเสถียรภาพของภูมิภาคอาเซียนให้มีอำนาจต่อรอง
"ยุคทองของการค้าระหว่างประเทศได้จบลงแล้ว ทรัมป์ 2.0 จะมาพร้อมกับความไม่แน่นอน และคาดการณ์ได้ยาก" นายปานปรีย์ กล่าว
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า นโยบายของทรัมป์อาจจะดูย้อนแย้งในตัวเอง โดยคำนึงถึงเรื่องผลประโยชน์ที่สหรัฐฯ เป็นสำคัญ ในส่วนของไทยควรให้การสนับสนุนกับอุตสาหกรรมเกิดใหม่ให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง
กรณีที่สหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากองค์กรระหว่างประเทศจะสร้างความปั่นป่วนมากพอสมควร ขณะเดียวกันจะส่งผลให้การค้ากลับมาคึกคัก เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเร่งสั่งซื้อสินค้า เพราะไม่รู้ว่าจะมีการประกาศมาตรการกีดกันทางการค้าอะไรออกมา
นายปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการมูลนิธิอาเซียน จุฬาฯ กล่าวว่า นโยบายทรัมป์ 2.0 ถือเป็นการจัดระเบียบโลกใหม่ที่ทุกประเทศต้องปรับตัวเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งสหรัฐฯ เริ่มต้นจากประเทศพันธมิตรใกล้บ้านก่อนแบบค่อยเป็นค่อยไป และอีก 2 ปีจะมีการเลือกตั้งกลางเทอม หากมีการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เรามีเวลาในการเตรียมตัวและเจรจา ซึ่งต้องใช้ความได้เปรียบเรื่องที่ตั้งเป็นอำนาจในการต่อรอง ปรับโครงสร้างภายในประเทศเพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน
สิ่งแรกที่ทรัมป์ต้องการทำคือสมุทรานุภาพที่เป็นจุดเชื่อมสำคัญทางทะเล การยึดคืนคลองปานามา การยึดคืนอ่าวเม็กซิโก การทำเหมืองแร่ใต้ทะเล
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) กล่าวว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นคนที่มีประสบการณ์สูง และมีคนรอบข้างที่จะเรียนรู้ และช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงจังหวะที่ดีของไทยจะปรับปรุงระบบราชการและกฎหมายที่ล้าสมัยเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาระยะสั้น ๆ ออกจากกรอบเดิม ๆ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ เป็นไปได้หรือไม่ที่บ้านเราจะให้บริษัทเอกชนเข้าไปช่วยดูแลมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตบุคลากรได้ตรงตามความต้องการ
"ขณะที่เขาเห็นว่านโยบายกีดกันทางการค้าจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น เขาก็ทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามเพื่อลดแรงกดดันคือการขุดน้ำมัน สนับสนุนรถยนต์สันดาป" นายก้องเกียรติ กล่าว
ด้านน.ส.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า การเมืองสหรัฐฯ เป็นภาวะ disruption ต่อเนื่อง ซึ่งมีความแตกต่างจากในอดีตที่แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว แต่ครั้งนี้เป็นการดึงการลงทุนกลับประเทศ โดยทุกภาคส่วนต้องตื่นตัวที่จะรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง เพราะผลพลอยได้ที่ทำให้ไทยได้ดุลการค้าในช่วงทรัมป์ 1.0 อาจไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว
นโยบายทรัมป์ 2.0 จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจในปีนี้จะชะลอตัวลงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลในเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจของทุกประเทศในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ไปพร้อม ๆ กับการเจรจาก่อนจะมีข้อสรุปที่ชัดเจน และอาจมีโอกาสที่จะเห็นค่าเงินหยวนอ่อนค่าบ้าง แต่หมัดเด็ดของจีนน่าจะเป็นเรื่องการพึ่งพาตัวเอง โดยสร้างความแข็งแกร่งจากเศรษฐกิจภายในประเทศ
สิ่งที่เราควรเร่งดำเนินการได้ก่อนคือ การปรับปรุงกฎหมายที่ล่าช้า และการใช้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มเป็นอาเซียน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สหรัฐฯ และจีนเป็นสองประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย นโยบายทรัมป์ 2.0 ที่เน้นดึงการลงทุนกลับประเทศจะกระทบต่อการส่งออกของไทย แต่น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมจากผู้รับจ้างผลิตสินค้าไปการสร้างแบรนด์ของตัวเอง รวมถึงการถ่ายโอนไปยังอุตสาหกรรมใหม่
"ท่ามกลางความวิตกกังวลในช่วงทรัมป์ 1.0 จนถึงประธานาธิบดีไบเดน ดุลการค้าและการส่งออกของเราสูงขึ้น" นายเกรียงไกร กล่าว
แนวทางที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การแสวงหาตลาดใหม่เพิ่มเติม และควรมีการจัดตั้งวอร์รูมเพื่อจับตาดูในเรื่องนี้ ขณะเดียวกันต้องกระตุ้นยอดขายในประเทศด้วยการให้แต้มต่อกับ SME, การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย, การพัฒนาบุคลากรทั้ง อัพสกิล-รีสกิล, การสร้างมูลค่าให้กับวัตถุดิบในประเทศ
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การกลับมาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ถือเป็นการปฏิรูปการเมืองครั้งสำคัญ และทุกครั้งที่มีแรงกดดันหรือเกิดวิกฤตเข้ามาน่าจะเป็นโอกาสให้เกิดการปรับตัวแบบก้าวกระโดด จากปกติที่ปล่อยให้ค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งหากไม่ทำก็อยู่ไม่ได้ เพราะการผันผวนเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยแนวทางที่เตรียมไว้คือการไปเจรจาทางการค้าโดยตรง เพราะสิ่งที่เขามองเป็นเรื่องตัวเลขดุลการค้าอย่างเดียว ส่วนจะเป็นรายสินค้าใดนั้นกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา นอกจากนี้ยังน่าเป็นห่วงเรื่องอัตราเงินเฟ้อสูง
"เราต้องชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริง เช่น สินค้าที่ส่งเข้าไปผลิตจากบริษัทสหรัฐฯ หรือเรามียอดนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ที่มีปริมาณมากเช่นกัน" นายวิศิษฐ์ กล่าว
นายพงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า นโยบายของทรัมป์อาจส่งผลดีระยะสั้นต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ ให้คลี่คลายลง ซึ่งเป็นช่วงจังหวะดีที่เราจะได้มีเวลาในการปรับตัว เนื่องจากนโยบายความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ แตกต่างจากในอดีต โดยสหรัฐฯ จะมุ่งที่จะแผ่อิทธิพลในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้นเพื่อคานอำนาจกับจีน
นายปจงวิช พงษ์ศิวาลัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) กล่าวว่า น่าจะเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมอีกครั้ง ซึ่งเป็นการย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนครั้งใหญ่กว่าในอดีต โดย 70% เป็นนักลงทุนจีน โดยท่าทีของไทยนั้นต้องสร้างสมดุล โดยการเชิญชวนให้ทุกประเทศเข้ามาลงทุน