คลัง เดินหน้า พ.ร.บ.ศูนย์กลางการเงิน ชงครม.ต้นก.พ. ดึง 8 ธุรกิจตั้ง OSA ครบวงจรในไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 22, 2025 10:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คลัง เดินหน้า พ.ร.บ.ศูนย์กลางการเงิน ชงครม.ต้นก.พ. ดึง 8 ธุรกิจตั้ง OSA ครบวงจรในไทย

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งศูนย์กลางทางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Financial Hub) เพื่อพัฒนาไทยเป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจในเวทีโลก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยกระทรวงการคลัง ได้ยกร่างกฎหมายชุดใหม่ 96 มาตรา ที่มีความเป็นสากล โปร่งใส และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ออกแบบสิทธิประโยชน์ รวมทั้งพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงิน ทั้งการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

ทั้งนี้ รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบาย และยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน โดยมีตนเป็นประธาน ปัจจุบันได้ยกร่าง "พ.ร.บ. ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. ...." และเปิดรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้ว และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างช้าต้นเดือน ก.พ. 68

1. ธุรกิจเป้าหมาย

Financial Hub ต้องการดึงดูดนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ 8 ประเภท ได้แก่ 1) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ 2) ธุรกิจบริการการชำระเงิน 3) ธุรกิจหลักทรัพย์ 4) ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 5) ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 6) ธุรกิจประกันภัย 7) ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ และ 8) ธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง หรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงินตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ให้เข้ามาลงทุน และตั้งบริษัทในไทย โดยตั้งในเขตพื้นที่ที่กำหนด และต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามที่กำหนด โดยสามารถให้บริการแก่ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident) เท่านั้น

ทั้งนี้ จะอนุญาตให้สามารถให้บริการผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศได้ในกรณี ดังนี้

(1) ด้านประกันภัย สามารถทำประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยในไทย เพื่อโอนความเสี่ยงได้

(2) ด้านตลาดทุน สามารถให้บริการร่วมกับผู้ประกอบการไทย (Co-services) ในการพาลูกค้าไปลงทุนต่างประเทศได้

(3) ด้านสถาบันการเงิน สามารถทำ Interbank กับสถาบันการเงินไทย เพื่อบริหารความเสี่ยงได้

(4) ด้านธุรกิจบริการการชำระเงิน สามารถเชื่อมระบบกับผู้ให้บริการภายใต้การกำกับดูแลของไทยได้

(5) ด้านธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงิน ผู้ประกอบธุรกิจมีสถานะเป็น Non-resident ที่ประกอบธุรกิจทางการเงิน โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมแลกเปลี่ยนเงิน และมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท

2. สิทธิประโยชน์

ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย ภายใต้ Financial Hub จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีและมิใช่ภาษี ตามที่คณะกรรมการกำหนด โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะต้องแข่งขันได้ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี เช่น การยกเว้นกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของบุคคลต่างด้าว สิทธิประโยชน์ในการนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทย การให้กรรมสิทธิในการถือครองห้องชุดเพื่อการประกอบธุรกิจและอยู่อาศัย เป็นต้น

3. การอนุญาตและกำกับดูแล

จะมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (One Stop Authority: สำนักงาน OSA ) ขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (End to end) เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็น Financial Hub และดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินเข้ามาลงทุน และมีคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (คกก. OSA) ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย กำหนดแนวทางการส่งเสริม กำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาต หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการขออนุญาต และการอนุญาต การเพิกถอน และการกำกับดูแล โดยต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนด หรือมาตรฐานเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) ที่เป็นมาตรฐานสากล

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินที่พัฒนามากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ดังนั้น การพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค จะดึงดูดธุรกิจทางการเงินต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทย ทำให้แรงงานที่มีทักษะด้านการเงินจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น เกิดการพัฒนาธุรกิจทางการเงินในไทย เกิดการจ้างงานในประเทศ เกิดการถ่ายทอดทักษะและเทคโนโลยีแก่แรงงานไทย

"รัฐบาล จึงมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะผลักดันให้ Financial Hub เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. อย่างช้า ต้นเดือน ก.พ. 68" รมช.คลัง ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ