สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) พร้อมด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดให้บริการอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เจาะจงแหล่งที่มา (Utility Green Tariff แบบที่ 1: UGT1) เป็นการเปิดให้บริการไฟฟ้าสีเขียวครั้งแรกในไทย เพื่อเพิ่มทางเลือกในการรับบริการไฟฟ้าสะอาด รองรับปริมาณความต้องการไฟฟ้าสีเขียวของผู้ประกอบการภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมภาคเอกชน และการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า รวมทั้งเป็นหนึ่งในมาตรการจูงใจที่สำคัญรองรับการขยายฐานการลงทุนจากธุรกิจข้ามชาติชั้นนำมายังประเทศไทย
นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ทางการไฟฟ้าทั้ง 3 การไฟฟ้า ซึ่งได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) พร้อมแล้วที่จะเปิดให้บริการอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เจาะจงแหล่งที่มา (UGT1) โดยเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการธุรกิจภาคเอกชน ที่มีความจำเป็น หรือมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวสำหรับการดำเนินธุรกิจ โดยได้กำหนดอัตรา UGT1 เป็นส่วนเพิ่มจากค่าไฟฟ้าตามปกติหน่วยละประมาณ 6 สตางค์ต่อหน่วย โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อขอรับบริการได้ โดยผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ กฟก. ผ่านแพลตฟอร์ม ugt.pea.co.th ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ กฟน. ที่เว็บไซต์ mea.or.th ลูกค้าตรง กฟผ. ที่เว็บไซต์ egat.co.th ถึงวันที่ 28 ก.พ. 68 ทั้งนี้ ค่าส่วนเพิ่มดังกล่าวจะเรียกเก็บเฉพาะผู้ที่ใช้ไฟฟ้า UGT1 เท่านั้น จึงไม่ส่งผล กระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไป
"การเปิดให้บริการไฟฟ้าสีเขียว แบบผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เจาะจงแหล่งที่มา หรือ UGT 1 ถือเป็นการความสำเร็จก้าวที่สำคัญในการให้บริการไฟฟ้าสะอาดพร้อมด้วยกระบวนการรับรองแหล่งที่มา ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรฐานและกติกาซึ่งเป็นสากลและได้รับยอมรับระดับสากล และยังเป็นครั้งแรกของไทยในการให้บริการไฟฟ้าและการรับรองไฟฟ้าสะอาดอย่างเต็มรูปแบบ เชื่อว่าจะเปรียบเหมือนการติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการไทย สามารถเข้าไปแข่งขันในเวทีการค้าและการลงทุนในเวทีโลกได้เป็นอย่างดี ขจัดอุปสรรค ตอบโจทย์การค้าการลงทุนระหว่างประเทศ จูงใจให้ธุรกิจข้ามชาติชั้นนำระดับสากลใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต การค้าและการลงทุนในอนาคต" นายพูลพัฒน์ กล่าว
นายพูลพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ กฟผ. และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (กฟน., กฟภ.) จัดเตรียม UGT1 ไว้รองรับความต้องการเป็นปริมาณรวมประมาณ 2,000 ล้านหน่วยต่อปี ที่อัตราราคา 4.21 บาทต่อหน่วย ซึ่งคำนวนจากค่าไฟงวดปัจจุบันที่ 4.15 บาทต่อหน่วย บวกค่าความสะอาด 6 สตางค์ต่อหน่วย โดยไฟฟ้าสีเขียยวดังกล่าว จะมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำของ กฟผ. จำนวน 7 เขื่อน รวม 1,135 เมกะวัตต์
พร้อมทั้งเตรียมการในการออกเอกสารรับรองไฟฟ้าสะอาด และแหล่งที่มาภายใต้มาตรฐาน I-REC ซึ่งเป็นใบรับรองที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุดมาตรฐานหนึ่งในระดับสากล โดยการไฟฟ้าได้เริ่มเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา และมั่นใจว่าปริมาณไฟฟ้าสีเขียวจะมีปริมาณเพียงพอในการรองรับความต้องการไฟฟ้าสีเชียวรูปแบบภาคเอกชนในช่วงแรกได้ทั้งหมด โดยในช่วงต่อไปจะมีการเปิดให้บริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟเจาะจงแหล่งที่มา (UGT2) และ Direct PPA เพิ่มเติม
ส่วนความคืบหน้าการเปิด UGT2 หรือ ไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าเจาะจงแหล่งที่มา จะมาจากโครงการพลังงานหมุนเวียนบิ๊กล็อต รอบแรกที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 4,852 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากทั้ง โซลาร์ฟาร์ม โซลาร์ร่วมกับระบบแบตเตอรี่ ลม ไบโอแมส และไบโอแก็ส คาดว่าจะสามารถเปิดได้ในช่วงเดือน มิ.ย.68 จากนั้นจะผู้ที่สนใจลงทะเบียนต่อไป ซึ่งอัตราราคาจะต่างกับ UGT1 จากนั้นคาดว่าจะเปิดในส่วนของ Direct PPA ต่อไป
ทั้งนี้จากการเปิดให้บริการที่ผ่านมาได้มีผู้ติดต่อลงทะเบียนเพื่อสมัครใช้บริการแล้วประมาณ 600 ล้านหน่วย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจการค้าระหว่างประเทศที่นำไปใช้ในการจัดทำรายงานการปล่อยก๊าซฯ ตามนโบายของบริษัทแม่หรือบริษัทคู่ค้า บริษัทจดทะเบียนชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องการการรับรองไฟฟ้าสีเขียว เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์จากมาตรการสนับสนุนพลังงานสะอาดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เช่น ธุรกิจการเงินการธนาคาร อุตสาหกรรมการผลิต ห้างสรรพสินค้า เป็นต้นต้น
นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ได้ร่วมพัฒนา UGT ขึ้น เพื่อตอบโจทย์และเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่มุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้ไฟฟ้า หรือ Scope 2 Emissions โดยอาศัยกลไกใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ REC ตามมาตรฐาน I-REC ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยได้ออกแบบให้มี ArrongementUnit ที่ดำเนินการผ่าน UGT Plotform ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดสรรและจับคู่ข้อมูลระหว่างหน่วยผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนกับข้อมูลหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริงของผู้ใช้บริการ นำไปสู่การรับรองและส่งมอบ REC ให้กับผู้ใช้บริการตามแนวทาง Bundled REC ซึ่งเป็นแนวทางที่รวมการชำระค่าไฟฟ้าและค่าบริการใบรับรอง REC ไว้ในธุรกรรมเดียว
ดังนั้น UGT จึงไม่เพียงช่วยตอบความต้องการให้กับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ Net-zero emissions และมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวในประเทศไทย แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มศักยภาพขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวในระดับภูมิภาค เป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล
นายพิศญ ต้นพิถาวร รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์กรและหวามยั่งยืน กฟน. กล่าวว่า การไฟฟ้านครหลวง พร้อมให้บริการจัดหาและส่งมอบพลังงานไฟฟ้าสีเขียว พร้อมใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน Renewable Energy Certjicote (REC) โดยในปี 68 การไฟฟ้านครหลวง ได้เปิดให้บริการอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวแบบไม่เจาะจงแหล่งที่มา ที่เรียกว่า UGT1 กับผู้ใช้ใฟฟ้าประเภท 3,4 และ 5 เป็นกลุ่มแรก
นางสาวภูสุดา สงคศิริ ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟภ. กล่าวว่า กฟภ. มีความพร้อมในการให้บริการ โดยได้เปิดรับสมัครผู้ใช้บริการตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.68 เป็นต้นมา โดยมีผู้ใช้ไฟฟ้าจากกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเคมีภัณฑ์ และกลุ่มปิโตรเคมีให้ความสนใจและเข้ามาลงทะเบียนแล้ว