ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2568 การส่งออกไทย จะขยายตัวได้ 2.5% มีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าปี 2567 ที่ขยายตัวได้ 5.4% โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ยังมีแรงหนุนบางส่วนจากการเร่งนำเข้าสินค้า ก่อนการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังมีอยู่
ทั้งนี้ การส่งออกไทย ยังถูกกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้าง และมีความท้าทาย ดังนี้
1. สงครามการค้ารอบใหม่กดดันภาพการค้าและอุปสงค์โลก ในเบื้องต้นสหรัฐฯ ยังไม่ปรับขึ้นภาษีนำเข้ากับทุกประเทศ (universal tariff) เพื่อสอบสวนผลกระทบจากการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ แต่ส่งสัญญาณที่จะปรับขึ้นภาษีนำเข้ากับเม็กซิโก แคนาดา และจีน ส่งผลให้การส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ อาจได้รับอานิงส์บวกบ้างเพื่อทดแทนตลาดดังกล่าว อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ถุงมือยาง ยางล้อ เครื่องพิมพ์ (Printers) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมการส่งออกไทย อาจต้องเผชิญแรงกดดันจากการค้า และอุปสงค์โลกที่ชะลอลง การแข่งขันในตลาดโลกที่สูงขึ้น และการส่งออกไปจีนที่คาดว่าชะลอลง
2. ความเสี่ยงที่จะโดนสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้า เนื่องจากการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูง โดยสินค้าที่มีความเสี่ยงเป็นสินค้าที่ไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง และได้อานิงส์จากการเข้ามาลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตของจีนในสงครามการค้ารอบแรก อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และโซลาร์เซลล์
อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ คงขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา และขนาดการปรับขึ้นภาษี รวมถึงผลการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและสหรัฐฯ ซึ่งอาจมีขึ้นในช่วงเดือนก.พ.68
3. ภาคการผลิตของโลกส่งสัญญาณชะลอตัว ส่วนหนึ่งถูกกดดันจากความต้องการสินค้าที่ลดลง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายภายใต้ทรัมป์ 2.0 เศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้า และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ในหลายพื้นที่ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ของโลกยังอยู่ในภาวะหดตัวในเดือนธ.ค.67 ที่ 49.6 ตามผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ที่ลดลง
"ในภาพรวมการส่งออกไทยปี 2568 คาดว่าจะได้รับผลกระทบสุทธิจากสงครามการค้าเป็นลบ ที่ราว 0.5% ซึ่งได้รวมอยู่ในประมาณการส่งออกล่าสุดแล้ว จากการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ลดลงในสินค้าบางรายการที่มีความเสี่ยง การส่งออกไปจีนที่ลดลงในสินค้าที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการผลิตจีน และการแข่งขันกับสินค้าจีนที่มากขึ้นในตลาดคู่ค้าของไทย" บทวิเคราะห์ ระบุ