ตรุษจีนปี 68 คึกคัก! คาดเงินสะพัด 5.17 หมื่นลบ. สูงสุดในรอบ 5 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 24, 2025 11:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตรุษจีนปี 68 คึกคัก! คาดเงินสะพัด 5.17 หมื่นลบ. สูงสุดในรอบ 5 ปี

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีน ปี 2568 พบว่า ในภาพรวมผู้บริโภคส่วนใหญ่ เชื่อว่าเทศกาลตรุษจีนปีนี้จะมีความคึกคักมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งมีผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาในช่วงปลายปี 67 ได้สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคที่จะออกมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น

โดยคาดว่าเม็ดเงินจากการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ จะอยู่ที่ราว 51,780 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.5% โดยเม็ดเงินดังกล่าว ถือว่าสูงสุดในรอบ 5 ปี และเป็นมูลค่าที่ขึ้นไปแตะระดับ 50,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีนับตั้งแต่ช่วงโควิด-19

ตรุษจีนปี 68 คึกคัก! คาดเงินสะพัด 5.17 หมื่นลบ. สูงสุดในรอบ 5 ปี

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า จากผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,283 คนทั่วประเทศ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 36.3% เชื่อว่าบรรยากาศตรุษจีนปีนี้ จะคึกคักมากกว่าปีที่ผ่าน ส่วนกลุ่มตัวอย่าง 34.8% เชื่อว่าความคึกคักจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 28.9% เชื่อว่าจะคึกคักน้อยกว่า

สำหรับเหตุผลที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เชื่อว่ามูลค่าการใช้จ่ายช่วงตรุษจีนปีนี้จะเพิ่มขึ้น เป็นเพราะราคาสินค้าแพงขึ้น, ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ, ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นต้น ขณะที่สาเหตุที่ทำให้การใช้จ่ายช่วงตรุษจีนปีนี้ลดลง มาจากการลดค่าใช้จ่าย, ภาวะเศรษฐกิจแย่ลง และมีรายได้ลดลง หนี้สินมากขึ้น เป็นต้น

โดยสถานที่ที่กลุ่มตัวอย่างใหญ่ใช้เลือกซื้อของไหว้เจ้า คือ ตลาดสด รองลงมา คือ ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (บิ๊กซี, แม็คโคร, โลตัส), ซุปเปอร์มาร์เก็ต, ห้างสรรพสินค้า, ร้านสะดวกซื้อ และซื้อผ่าน Online สำหรับการวางแผนใช้จ่ายช่วงตรุษจีน ส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายในการซื้อของเซ่นไหว้ รองลงมา คือ ไปทำบุญ, ไปรับประทานอาหาร, ให้แตะเอีย และท่องเที่ยวในประเทศ ตามลำดับ

สำหรับแหล่งที่มาของเงินที่จะนำไปใช้จับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ อันดับแรก มาจากเงินเดือน/รายได้ตามปกติ รองลงมา คือ เงินออม, เงินจากผู้ปกครอง-ญาติผู้ใหญ่, โบนัส-รายได้พิเศษ และเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ตามลำดับ โดยกลุ่มตัวอย่างจะนำเงินแตะเอียที่ได้รับไปเก็บออมมากที่สุด รองลงมา คือ นำไปใช้จ่ายท่องเที่ยว และนำไปใช้หนี้สิน ตามลำดับ

นอกจากนี้ ม.หอการค้าไทย ยังสำรวจความเห็นต่อมาตรการ Easy E-Receipt 2.0 ว่าส่งผลต่อการใช้จ่ายในช่วงตรุษจีนอย่างไร พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 62.4% ตอบว่า ไม่มีผล ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 30.9% ตอบว่า ใช้เพิ่มขึ้น และที่เหลืออีก 6.7% ตอบว่าใช้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี หากมองผลของมาตรการ Easy E-Receipt 2.0 ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม จะพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 52.5% เชื่อว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ปานกลาง รองลงมาก 19.9% เชื่อว่าช่วยได้มาก โดยมีเพียง 2.8% ที่ตอบว่า ไม่ช่วยเลย

สำหรับการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการ-ร้านค้า ต่อช่วงเทศกาลตรุษจีน ปี 68 พบว่า ผู้ประกอบการ-ร้านค้าส่วนใหญ่ 50.7% เชื่อว่าประชาชนจะมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น รองลงมา 41.1% เชื่อว่าไม่เปลี่ยนแปลง และมีผู้ประกอบการ-ร้านค้าเพียง 8.2% ที่เชื่อว่าประชาชนจะใช้จ่ายลดลง สำหรับสาเหตุที่ผู้ประกอบการ-ร้านค้า เชื่อว่าประชาชนจะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ อันดับแรก เป็นเพราะราคาสินค้าแพงขึ้น รองลงมา ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ตามลำดับ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ-ร้านค้า ส่วนใหญ่ 39.7% มีความเห็นสอดคล้องกับประชาชน โดยมองว่าเทศกาลตรุษจีนปีนี้ บรรยากาศจะคึกคักกว่าปีก่อน ขณะที่ผู้ประกอบการ 31.7% เชื่อว่าบรรยากาศจะคึกคักเท่ากับปีก่อน ส่วนผู้ประกอบการอีก 28.6% เชื่อว่าจะคึกคักน้อยกว่าปีก่อน โดยผู้ประกอบการร้านค้าในภาพรวมส่วนใหญ่ มองว่ามาตรการ Easy E-Receipt 2.0 ไม่ได้มีผลต่อยอดขายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้เท่าใดนัก แต่เมื่อสอบถามความเห็นของผู้ประกอบการร้านค้าเฉพาะที่สามารถออก E-Receipt ได้ จะพบว่า ส่วนใหญ่ถึง 51.1% ตอบว่ามีผลให้ยอดขายในช่วงตรุษจีนเพิ่มขึ้น

เมื่อถามผู้ประกอบการถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างไร โดยในกรณีเงินโอน 10,000 บาท เฟส 1 ที่ให้กับกลุ่มเปราะบางนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 53.9% ตอบว่ามีผลช่วยให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้น รองลงมา 28.8% ตอบว่าไม่เปลี่ยนแปลง และอีก 17.3% ตอบว่ามีผลช่วยให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้นมาก ส่วนกรณีเงินโอน 10,000 บาท เฟส 2 ที่ให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 46.3% เชื่อว่าไม่มีผลเปลี่ยนแปลง รองลงมา 39.8% เชื่อว่าจะมีผลช่วยให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้น และอีก 13.9% เชื่อว่ามีผลให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้นมาก

*ความเชื่อมั่นฟื้น รับผลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีน ปี 2568 ในครั้งนี้ ที่เม็ดเงินจากการจับจ่ายใช้สอยกลับขึ้นไปแตะระดับ 50,000 ล้านบาทอีกครั้งในรอบ 5 ปีนั้น แสดงให้เห็นว่า ประชาชนเริ่มมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 67 ที่รัฐบาลเริ่มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งบางมาตรการมีผลในไตรมาส 4/67 และบางมาตรการจะเริ่มมีผลในไตรมาส 1/68

"ความเชื่อมั่นของประชาชนเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ ต.ค. พ.ย. ธ.ค. จากผลของการเริ่มแจกเงินหมื่นเฟสแรก, การจ่ายเงินช่วยเกษตรกรไร่ละ 1 พันบาท, มาตรการคุณสู้ เราช่วย รวมทั้งมาตรการที่จะมีผลในไตรมาสแรกปีนี้ เช่น Easy E-Receipt 2.0 และเงินหมื่น เฟส 2 สำหรับผู้สูงอายุ จึงส่งผลให้การใช้จ่ายช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 3% และคาดว่าตรุษจีนปีนี้ การใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้น 4.5% จากปีก่อน โดยมูลค่าแตะ 50,000 ล้านบาท เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีนับจากช่วงโควิด" นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า จากผลสำรวจความเห็นทั้งในฝั่งของประชาชน (Demand) และฝั่งผู้ประกอบการร้านค้า (Supply) ทำให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนในระยะยาวนั้น คงต้องจับตาปัจจัยอื่นประกอบ โดยเฉพาะนโยบายทรัมป์ 2.0 ซึ่งน่าจะเริ่มเห็นความเห็นความชัดเจนของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้เป็นต้นไป

โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปี 68 จะขยายตัวได้ที่ 2.0-2.5% ซึ่งต่ำกว่าปี 67 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5-2.7% (ตัวเลข GDP ปี 67 อย่างเป็นทางการจากสภาพัฒน์ จะแถลงวันที่ 17 ก.พ.)

"ส่วนใหญ่มองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ มีผลช่วยแน่ในระยะสั้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปีนี้เห็นการฟื้นตัวแน่นอน แต่ในช่วงไตรมาส 2 จะเป็นจุด check point ซึ่งจะเริ่มเห็นชัดเจนว่านโยบายทรัมป์ จะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทยบ้าง" นายธนวรรธน์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ