ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความเปราะบางของแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังคงเป็นหนึ่งในโจทย์ท้าทายความสามารถในการประคองรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทำให้คาดว่าภาพในอีกด้านหนึ่ง จะเห็นธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการดูแลจัดการประสิทธิภาพด้านต้นทุน และค่าใช้จ่าย ควบคู่ไปกับการเตรียมปรับตัวรับมาตรการที่ทางการอาจทยอยประกาศออกมาเพิ่มเติม เช่น แนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ ตลอดจนเตรียมวางกลยุทธ์ เพื่อรับมือกับการแข่งขันกับผู้เล่นหน้าใหม่ โดยเฉพาะ Virtual Bank ในช่วงหลังจากนี้
1. รายได้จากธุรกิจหลัก อาจมีกรอบการฟื้นตัวที่จำกัด
โดยในส่วนของผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อ (Yield on Loans) ปี 2568 อาจประคองตัวอยู่ในระดับใกล้เคียง หรือต่ำกว่า 5.30% ในปี 2567 ตามภาพการเติบโตในกรอบจำกัดของสินเชื่อ โดยเฉพาะพอร์ตสินเชื่อ High Yields รวมถึงความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศอาจปรับตัวลดลง
นอกจากนี้ แรงหนุนต่อรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในปี 2568 โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมฯ กำไรจาก FVTPL และเงินลงทุน อาจมีความท้าทายกว่าปี 2567 เพราะจะขึ้นอยู่กับสภาวะความผันผวนของตลาดการเงิน ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งของนายโดนัลด์ ทรัมป์
2. ธนาคารส่วนใหญ่จะใช้ความพยายามเพิ่มขึ้น ในการดูแลบริหารจัดการประสิทธิภาพของค่าใช้จ่าย และต้นทุนต่างๆ
ซึ่งทำให้คาดว่าสัดส่วนต้นทุนต่อค่าใช้จ่าย (Cost to Income Ratio) ในปี 2568 จะลดลงต่ำกว่าระดับ 45% ในปี 2567 อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ น่าจะยังมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายการดำเนินงานอื่น ๆ
3. ระดับค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ ปี 2568 มีแนวโน้มชะลอลง
โดยคาดว่า สัดส่วนสำรองฯ ต่อ NPLs (Coverage ratio) ในปี 2568 จะลดลงจาก 182% ณ สิ้นปี 2567 ไม่มาก เนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่ ยังน่าจะมีแนวทางการกันสำรองฯ แบบระมัดระวัง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทย และผลจากนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่จะมีผลทั้งในเชิงบวกและลบกับภาคธุรกิจ ซึ่งทำให้ธนาคารต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยอาจมีการปรับแนวทางการกันสำรองฯ ให้สมดุลกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และปัญหาคุณภาพหนี้ที่ยังเป็นโจทย์ต่อเนื่องระหว่างปี
4. ปัญหาคุณภาพสินเชื่อยังต้องดูแลต่อเนื่องในปี 2568 เพื่อรักษาระดับ NPLs ให้ใกล้เคียง หรือขยับขึ้นไม่มากเมื่อเทียบกับ 3.04% ณ สิ้นปี 2567
โดยในปี 2568 ธนาคารพาณิชย์ยังคงมีภารกิจต่อเนื่อง ในการให้ความช่วยเหลือ และปรับโครงสร้างลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ตามกรอบ Responsible Lending ซึ่งจะต้องดำเนินการไปพร้อมกับการเร่งบริหารจัดการคุณภาพหนี้ในเชิงรุก และการประเมินและทบทวนความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าอย่างระมัดระวัง
5. ประเด็นติดตามเพิ่มเติมจะอยู่ที่เกณฑ์ของทางการ และสภาพการแข่งขัน
โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ การดูแลความปลอดภัยทางด้านการเงิน และการวางกลยุทธ์เตรียมรับมือกับการแข่งขันจากคู่แข่งที่จะเข้มข้นขึ้น โดยคงจะเห็นแผนและรูปแบบการทำธุรกิจของผู้สมัคร Virtual Bank ที่ชัดเจนขึ้น หลังการประกาศรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ในช่วงกลางปี 2568
* กางงบการเงินปี 2567 ของกลุ่มแบงก์พาณิชย์
งบการเงินปี 2567 ของกลุ่มแบงก์ (9 แห่ง) สะท้อนประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย มีทิศทางดีขึ้น 2. ระดับหนี้เสียยังบริหารจัดการได้ และ 3. ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ เริ่มทยอยลดลง
1. รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีทิศทางดีขึ้น และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในปี 2567 (แม้รายได้หลักของกลุ่มแบงก์จะยังมาจากรายได้ดอกเบี้ยเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม) โดยสัดส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ขยับขึ้นมาที่ 24.6% ของรายได้จากการดำเนินงานสุทธิในปี 2567 (จาก 23.8% ในปี 2566) ขณะที่สัดส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ชะลอลงตามภาพสินเชื่อที่อ่อนแอ และการปรับตัวลงของอัตราดอกเบี้ยในประเทศ
ทั้งนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยของกลุ่มแบงก์ เริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และสามารถกลับมาเติบโตสูงกว่าการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในปี 2567 นำโดย รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ (จากธุรกิจบัตรเครดิต และบริการประกันผ่านธนาคาร และบริการกองทุนรวม) การเพิ่มขึ้นของกำไร จากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์ และกำไรจากเงินลงทุนซึ่งได้รับอานิสงส์จากสภาวะตลาด
2. สถานการณ์หนี้เสียยังสูง แต่ยังอยู่ในขอบเขตที่ธนาคารสามารถดูแลจัดการได้ แม้เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม (สัดส่วน NPLs หรือ NPL Ratio) ณ สิ้นปี 2567 จะปรับตัวขึ้นมาที่ 3.04% (จาก 2.96% ณ สิ้นปี 2566) แต่สัดส่วน NPLs ก็ปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 จากจุดสูงสุดของปีที่ทำไว้ในไตรมาสที่ 2/2567
ซึ่งสะท้อนว่า ธนาคารต่าง ๆ ยังมีการจัดการกับปัญหาคุณภาพสินเชื่อในเชิงรุก ทั้งดูแลจำกัดความเสี่ยงด้านเครดิตของสินเชื่อที่ปล่อยใหม่ การตัดหนี้สูญ-ตัดขายหนี้เสีย รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ในช่วงที่ผ่านมา ที่มีผลทำให้ลูกหนี้บางส่วนมีการปรับชั้นจาก NPLs ขึ้นมาเป็นสินเชื่อ Stage 2
3. ค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ ทยอยลดลง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ ที่ช่วยหนุนผลการดำเนินงานให้ประคองตัวผ่านปี 2567 โดยแม้ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ เฉลี่ยต่อไตรมาสของธนาคารส่วนใหญ่ในปี 2567 จะยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อไตรมาสในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจอยู่ในภาวะปกติก่อนโควิด แต่ Credit Cost ก็ทยอยปรับลดลงมาจากจุดสูงสุดของปี 2567 แล้ว เกือบ 20 basis points (bps.) มาอยู่ที่ 1.51% ในไตรมาส 4/2567