นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงาน "Economic Forum 2025" โดยยืนยันว่า รัฐบาล และกระทรวงการคลัง ได้ให้ความสำคัญกับวินัยการคลังของประเทศอย่างเข้มข้น โดยได้พยายามจัดทำงบประมาณขาดดุลให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น โครงการรถไฟรางคู่ โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
อีกทั้งเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนที่ดีให้เข้ามาในไทย โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัล ธุรกิจกรีน ธุรกิจเซมิคอนดักซ์เตอร์ คลาวด์ AI และธุรกิจไบโอเทคโนโลยี ซึ่งเชื่อมั่นว่าธุรกิจเหล่านี้จะเป็นโอกาสใหม่ ๆ ที่ทยอยเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ตลอดจนต้องมีการจัดงบประมาณเพื่อยกระดับ และพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ
"ต้องติดตามความผันผวน และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก จากนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งวันนี้ยังไม่มีใครเดาออกว่าจะไปทางไหน จะออกหัว หรือออกก้อย แต่ต้องยอมรับว่าทุกคนมีความเสี่ยงมากขึ้น กระทรวงการคลัง ขอใช้เวลา 1-2 เดือนในการประเมิน และน่าจะพอเดาทางได้ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ จะไปทางไหน" รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าว
สำหรับนโยบายการเงินนั้น นายพิชัย ยืนยันว่า ยังต้องการเห็นอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง แต่ทั้งนี้หน่วยงานที่จะตัดสินใจเรื่องนี้ได้ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปี 2567 ที่ออกมาไม่ถึง 0.50% ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ส่วนตัวมองว่าการบริหารทั้งเรื่องอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยนั้น จะต้องพิจารณาเรื่องความเข้มแข็งของประเทศเข้าไปด้วย
ขณะที่เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ก็จะต้องพิจารณาไม่ให้เสียเปรียบคู่แข่งหรือประเทศคู่ค้า ที่สำคัญควรต้องทำให้ค่าเงินมีเสถียรภาพ ซึ่งมองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลซึ่งดูแลนโยบายการคลังที่จะต้องมาคุยกับผู้ดูแลนโยบายการเงิน เพื่อหาความเห็นหรือจุดสมดุลในการดูแลเรื่องดังกล่าวที่ใกล้เคียงกัน
"อยากเห็นอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง เพราะต้องเข้าใจว่า วันนี้ประเทศไทยมีหนี้ ที่เป็นหนี้ภาคประชาชน 16 ล้านล้านบาท ส่วนรัฐบาลเองก็มีหนี้อีก 10 กว่าล้านล้านบาท หากอัตราดอกเบี้ยลดลงไป ก็จะช่วยได้เยอะ ผมก็ได้แต่ภาวนา และหวังว่าจะได้เห็นอัตราดอกเบี้ยของไทยลดลงไปอีก" นายพิชัย กล่าว
ส่วนความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น นายพิชัย กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดลงทะเบียนโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียนจนถึงวันที่ 28 ก.พ.นี้ และหลังจากนั้น จะมีการพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มที่เป็นหนี้เสียตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งมีค่อนข้างมาก และแก้ไขได้ยาก โดยมองว่ากลุ่มนี้วิธีการแก้ไขปัญหาจะต้องแตกต่างออกไป การลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ก็อาจจะต้องมาพิจารณาปรับลดเงินต้นด้วย
"เรื่องนี้จะต้องมาหารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งหมด รวมถึงสถาบันการเงิน โดยขณะนี้ อาจจะต้องรอดูแนวโน้มเศรษฐกิจประกอบด้วย หากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 4/67 ออกมาดี ซึ่งเบื้องต้นคลังประเมินว่าจะอยู่ที่ 4% หากไม่มีน้ำท่วม แต่เมื่อมีน้ำท่วมตัวเลขอาจจะชะลอลงมาเหลือ 3.5% ซึ่งหากเศรษฐกิจออกมาในทิศทางที่ดี ก็เชื่อว่าจะทำให้การทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาหนี้กลุ่มที่เป็นหนี้เสียเกิน 1 ปี หารือกันได้เข้าใจมากขึ้น" นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย ยังมั่นใจว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวได้มากกว่า 3% ซึ่งในความเห็นส่วนตัวเชื่อว่ามีโอกาสจะขยายตัวได้ถึงระดับ 3-3.5% โดยเป็นผลมาจากที่รัฐบาลเริ่มสามารถขับเคลื่อนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน สะท้อนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะเดียวกัน ภาคการส่งออกก็ฟื้นตัวและเติบโตเป็นอย่างดี โดยในปี 2567 มูลค่าการส่งออกของไทย ขยายตัวที่ 5.4% ส่วนภาคการท่องเที่ยวก็ขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในปี 2568 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะขึ้นไปแตะที่ 39 ล้านคนได้ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนนั้น รัฐบาลได้เร่งสร้างความเชื่อมั่น และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ โดยในปีที่ผ่านมา พบว่ามีนักลงทุนต่างชาติที่แสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ