ธปท.เผย Q1/51 สัดส่วน gross NPL ระบบแบงก์ลดเหลือ 6.8%จาก 7.3%สิ้นปี 50

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 20, 2008 15:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางฤชุกร สิริโยธิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 1/51 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมียอดคงค้างสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (gross NPL) 4.65 แสนล้านบาท แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 50 แต่มีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมที่ลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 7.3 เหลือร้อยละ 6.8 และสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิหลังหักสำรองหนี้เสีย (net NPL) ต่อสินเชื่อรวมลดลงเหลือร้อยละ 3.7
สินเชื่อภาคธุรกิจ (ร้อยละ 76.4 ของสินเชื่อรวม) มีสัดส่วน NPL ลดลงเหลือร้อยละ 7.6 โดยลดลงในธุรกิจเกือบทุกประเภท ในขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคมีสัดส่วน NPL ทรงตัวในระดับเดียวกับสิ้นปี 2550 ที่ร้อยละ 4.0 เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของระบบธนาคารพาณิชย์ลดลงเล็กน้อยเป็นร้อยละ 14.8 จาก ร้อยละ 14.9 ณ สิ้นปี 2550 เนื่องจากไตรมาสนี้สินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก แต่ยังนับว่าอยู่ในระดับ น่าพอใจเมื่อเทียบกับเกณฑ์ขั้นต่ำทางกฎหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 8.5
ธปท.ระบุว่า ในช่วงไตรมาส 1/51 ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์โดยรวมอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ มีกำไรสุทธิ 3.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/50 ที่ขาดทุนสุทธิ 7.5 พันล้านบาท เนื่องจากภาระการกันสำรองลดลงมากหลังจากกันสำรองตามเกณฑ์มาตรฐานบัญชีสากล (IAS 39) ครบแล้วตั้งแต่สิ้นปี 50 ประกอบกับมีกำไรจากเงินลงทุนและจากการปริวรรตเงินตราเพิ่มขึ้น
ขณะที่สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 7.3 จากร้อยละ 4.6 ณ สิ้นปี 50 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 ไตรมาส หลังจากได้ชะลอลงต่ำสุดในไตรมาส 3/50 โดยเป็นการเร่งตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจเป็นหลัก ร้อยละ 5.5 จากร้อยละ 1.5 ณ สิ้นปี 50 สอดคล้องกับการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภค (ร้อยละ 23.6 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนเหลือร้อยละ 13.5 เนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังในการก่อหนี้มากขึ้น
ขณะที่เงินรับฝากขยายตัวร้อยละ 2.8 เพิ่มขึ้นจากที่ชะลอลงต่ำสุดร้อยละ 0.4 ณ สิ้นปี 50 เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ต่างเร่งระดมเงินฝากเพื่อรองรับการขยายสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ หากรวมเงินฝากกับตั๋วแลกเงิน (B/E) แล้วจะมีอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 5.7

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ