ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า มูลค่าการส่งออกยางพาราไทยในปี 68 มีแนวโน้มหดตัว 8.8% จากปีก่อน (YoY) มาอยู่ที่ 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยราคาส่งออกยางพารา เฉลี่ยจะลดลง 6.7% (YoY) เนื่องจากภาวะขาดดุลในตลาดยางพาราโลกมีแนวโน้มคลี่คลาย จากความต้องการใช้ยางพาราโลกที่โตชะลอลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปริมาณผลผลิตยางพาราโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดี จากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลาย และโรคระบาดในพืชที่ลดลง
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มลดลงในปี 68 จะเป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้ราคายางพาราปรับตัวลดลงตามไปด้วย ในขณะที่ปริมาณการส่งออกยางพาราในปี 68 จะลดลง 2.2% (YoY) เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางมีแนวโน้มเติบโตต่ำ
ทั้งนี้ ปริมาณการส่งออกที่ลดลง จะมีส่วนกดดันให้กำไรโดยรวมของอุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปในปี 68 ลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก สภาวะภูมิอากาศสุดขั้ว และการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ ที่จะกระทบต่อราคาและปริมาณการส่งออกยางพารา
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปมีผู้เล่น 4 ราย ครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ โดยผู้เล่นจะแข่งขันกันในด้านการกระจายแหล่งรายได้/ตลาด/วัตถุดิบ การบริหารความเสี่ยงด้านราคา และการมุ่งสู่ความยั่งยืน
อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูป เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย โดยผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้ จะรับซื้อผลผลิตยางพาราขั้นต้นจากเกษตรกรต้นน้ำ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราขั้นกลาง เช่น ซื้อยางก้อนถ้วยเพื่อมาแปรรูปเป็นยางแท่ง เป็นต้น ซึ่ง 77.6% ของผลิตภัณฑ์ที่ได้จะใช้เพื่อการส่งออก โดยในปี 66 ไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราขั้นกลางอันดับ 1 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาดโลกอยู่ที่ 28.6%
ทั้งนี้ ในปี 66 มูลค่าการส่งออกยางพารา อยู่ที่ 3,649 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นราว 1.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยตลาดส่งออกหลัก คือ จีน มาเลเซีย และสหรัฐฯ ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่งออกโดยส่วนใหญ่ จะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ สะท้อนได้จากปริมาณการส่งออกยางแท่ง และยางแผ่นรมควัน ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางล้อ คิดเป็นสัดส่วนต่อปริมาณการส่งออกทั้งหมดราว 57.9% และ 13.0% ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกน้ำยางข้นเพื่อไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยาง ถุงยางอนามัย และอื่น ๆ คิดเป็น 28.4% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด
โดยมูลค่าการส่งออกยางพาราของไทยในปี 66 หดตัวสูงถึง 29.3% (YoY) เนื่องจากปริมาณผลผลิตยางพาราไทยลดลง จากปัญหาภัยแล้งและโรคระบาดในพืช และความต้องการบริโภคในอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ของประเทศคู่ค้าปรับตัวลดลง จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการลดระดับการสต็อกสินค้าลง
อย่างไรก็ดี ในปี 67 ความต้องการบริโภคของประเทศคู่ค้ากลับมาฟื้นตัว ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนอุปทานโลก ส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ของปี 67 ราคาส่งออกยางพาราของไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 30.1%(YoY) ในขณะที่ปริมาณการส่งออก ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.3% (YoY) ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงถึง 38.4% (YoY) ซึ่งราคาและปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ส่งผลดีต่อรายได้ และกำไรของผู้ประกอบธุรกิจยางพาราแปรรูปในตลาดหลักทรัพย์ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 67 รายได้ และกำไรโดยรวมของผู้ประกอบการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 22.9% (Y0Y) และ 146.9% (YoY) ตามลำดับ
SCB EIC คาดว่า มูลค่าการส่งออกยางพาราในปี 68 มีแนวโน้มหดตัว 8.8% (YoY) มาอยู่ที่ 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับราคาและปริมาณการส่งออกที่ปรับตัวลดลง โดยราคาส่งออกยางพาราโดยเฉลี่ย มีแนวโน้มปรับตัวลดลง 6.7% (YoY) มาอยู่ที่ 1,608 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เนื่องจากภาวะขาดดุล หรือภาวะที่ผลผลิตน้อยกว่าความต้องการใช้ในตลาดยางพาราโลกมีแนวโน้มคลี่คลายลง จากปัจจัยดังนี้
1. ความต้องการยางพาราโลก มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดยางล้อรถยนต์ที่สำคัญของโลก โดย SCB EIC คาดว่า GDP สหรัฐฯ จะขยายตัวเพียง 1.9% ในปี 68 จากที่ขยายตัว 2.7% ในปี 67
2. ปริมาณผลผลิตยางพาราโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดี จากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลาย และโรคระบาดในพืชที่ลดลงโดยเฉพาะในไทย นอกจากนี้ ราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มลดลงในปี 68 ยังเป็นอีกปัจจัยกดดันให้ราคาส่งออกยางพาราปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ ปริมาณการส่งออกยางพาราในปี 68 มีแนวโน้มลดลง 2.2% มาอยู่ที่ 2.8 ล้านตัน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยาง โดยเฉพาะยางล้อรถยนต์ มีแนวโน้มเติบโตต่ำ ซึ่งปริมาณการส่งออกที่ลดลง จะมีส่วนทำให้กำไรโดยรวมของอุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปลดลงตามไปด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการมีกลยุทธ์การตั้งราคาแบบบวกจากต้นทุน (Cost Plus Pricing) ซึ่งจะทำให้กำไรโดยรวม (กำไรต่อหน่วยคูณปริมาณการขาย) ปรับตัวในทิศทางเดียวกับปริมาณการส่งออก
โดยภาวะเศรษฐกิจโลก จะส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคยางพาราโลก ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ (Downside risk) ก็จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคยางพาราโลกเติบโตต่ำกว่าที่คาด และส่งผลให้ราคาและปริมาณส่งออกยางพาราของไทยลดลงมากกว่าที่คาด ในทางตรงกันข้าม หากเศรษฐกิจโลกเติบโตดีกว่าคาด (Upside risk) ก็จะส่งผลให้ราคา และปริมาณส่งออกยางพาราของไทยปรับตัวลดลงน้อยกว่าคาด หรืออาจปรับตัวเพิ่มขึ้น สวนทางกับที่คาดการณ์ไว้
ในขณะที่ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตยางพาราทั้งในไทย และต่างประเทศ โดยหากปัญหาภัยแล้ง และการแพร่ระบาดของโรคในพืชไม่คลี่คลายอย่างที่คาด หรือมีปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้น ปริมาณผลผลิตยางพาราโลกก็จะไม่ฟื้นตัวดีอย่างที่คาด ผลักดันให้ราคาส่งออกยางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้น สวนทางกับที่คาดการณ์ไว้
SCB EIC มองว่า ในระยะต่อไป อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูป ยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากกระแสความยั่งยืน โดยเมกะเทรนด์ความยั่งยืน (Sustainability) จะทำให้ผู้บริโภคหรืออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบ หันมาให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมากขึ้นในอนาคต ซึ่งกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 30 ธ.ค. 68 เป็นตัวอย่างความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นจากกระแสความยั่งยืน
โดย EUDR กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ส่งสินค้ายางพารา หรือสินค้าที่ผลิตจากยางพาราไปยังตลาด EU จะต้องมีการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ว่าจะต้องมาจากพื้นที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งมาตรการดังกล่าว จะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการไทยเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยคว้าส่วนแบ่งตลาดยางพาราใน EU หรือในประเทศที่ส่งสินค้าที่ผลิตจากยางพาราไป EU ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยมีความพร้อมในการดำเนินการตามระเบียบ EUDR มากกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค
อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูป เป็นอุตสาหกรรมที่มีการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาด กระจุกตัวอยู่กับผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผู้เล่นในอุตสาหกรรมยางพาราแปรรูป เน้นการแข่งขันในด้านการขยายกำลังการผลิต เพื่อใช้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด เช่น กลุ่มศรีตรัง มีการเพิ่มกำลังการผลิตที่เหมาะสม (Optimum capacity) จาก 1.3 ล้านตันในปี 56 มาอยู่ที่ 2.8 ล้านตันในปี 66 โดยกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่ปรับตัวลดลง ซึ่งต้นทุนที่ต่ำลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก (ซึ่งไม่ใช่ผู้ผลิตยางธรรมชาติที่มีลักษณะพิเศษ) ไม่สามารถแข่งขันได้ และต้องออกไปจากตลาดในที่สุด และทำให้ผู้เล่นรายใหญ่ครองส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
โดย SCB EIC พบว่า ในปี 66 กลุ่มผู้ผลิตยางพาราแปรรูปรายใหญ่ 4 อันดับแรก ครองส่วนแบ่งตลาดส่งออกยางพารารวมกันสูงถึง 80.0% โดยกลุ่มศรีตรัง (STA) มีส่วนแบ่งตลาดมากเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยไทยฮั้ว เซาท์แลนด์ และวงศ์บัณฑิต ในขณะที่นอร์ทอีส (NER) ไทยอีสเทิร์น (TEGH) และไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ (TRUBB) มีส่วนแบ่งตลาดมากเป็นอันดับ 10, 11 และ 17 ตามลำดับ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะเน้นแข่งขันในด้านการกระจายรายได้/ตลาด/แหล่งวัตถุดิบ การบริหารความเสี่ยงด้านราคา และการมุ่งสู่ความยั่งยืน ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก และความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราของคู่ค้า ราคา และปริมาณวัตถุดิบยางพารามีความผันผวน และไม่แน่นอนสูงขึ้น
ซึ่งลักษณะดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงที่ปริมาณการสั่งซื้อจะลดลงกะทันหัน ไม่สามารถจัดหาสินค้ามาส่งมอบให้กับลูกค้าตามที่สัญญา และมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาดทุน จากความผันผวนของราคา ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะซื้อแพง แต่ต้องขายถูกตามราคาในสัญญาที่ตกลงกันล่วงหน้าหรือก่อนส่งมอบ
SCB EIC มองว่า ในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่สูงขึ้นดังกล่าว ผู้ประกอบการควรปรับตัว โดยแข่งขันกันกระจายการส่งออกไปยังตลาดส่งออกที่หลากหลาย และกระจายการผลิตสินค้าให้มีความหลากหลาย เพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่ง หรือรายได้จากสินค้าใดสินค้าหนึ่งมากเกินไป
พร้อมกันนั้น ผู้ประกอบการก็มีการแข่งขันกันพัฒนาขีดความสามารถในการจัดหาวัตถุดิบ ผ่านการซื้อวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่หลากหลาย ไม่พึ่งพาพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมากเกินไป และเน้นพัฒนาความสามารถในการจัดการความเสี่ยงด้านราคา ผ่านการบริหารจัดการสต็อกและการใช้สัญญาซื้อขายยางพาราในตลาดซื้อขายล่วงหน้า นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังมีการแข่งขันในด้านการมุ่งสู่ความยั่งยืน เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดการใช้น้ำ การปฏิบัติตามมาตรฐานและกฎระเบียบด้านความยั่งยืน เป็นต้น
"กลุ่มผู้ผลิตที่สามารถจัดการความเสี่ยงด้านตลาด แหล่งวัตถุดิบ และราคาได้ดี มีต้นทุนการผลิตต่ำ และผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และมีการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ และเติบโตได้อย่างยั่งยืน" บทวิเคราะห์ ระบุ
ทั้งนี้ ในระดับประเทศ อินโดนีเซีย และโกตดิวัวร์ คือ คู่แข่งที่สำคัญของไทย โดยในปี 66 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดยางพาราโลกมากสุดเป็นอันดับ 1 ของโลกที่ 28.7% ตามมาด้วยอินโดนีเซีย และโกตดิวัวร์ ที่มีส่วนแบ่งตลาด 19.7% และ 16.3% ตามลำดับ ในขณะที่จีน สหรัฐฯ และมาเลเซีย เป็นตลาดนำเข้ายางพาราที่สำคัญของโลก มีสัดส่วนการนำเข้ารวมกันสูงถึง 44.4% ของมูลค่าการนำเข้ายางพาราทั้งหมดของโลก