นับหนึ่งสงครามการค้า "ทรัมป์ 2.0" ป่วนโลก! ธุรกิจไทยเตรียมรับแรงกระแทก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 5, 2025 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ระบุว่า หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ รับตำแหน่งเพียงไม่ถึงเดือน ก็ได้ดำเนินมาตรการตามนโยบาย America First ซึ่งคำนึงถึงผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มาก่อน และสร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการเข้มงวดผู้อพยพ การหันหลังให้นโยบายสีเขียว และถอนตัวออกจากข้อตกลง Paris Agreement

ล่าสุด ยังเปิดฉากสงครามการค้ารอบใหม่ (Trade War 2.0) ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น 10% และอยู่ระหว่างเจรจากับเม็กซิโก และแคนาดา ภายใต้เงื่อนไขการพิจารณาเพิ่มภาษีนำเข้าจากทั้ง 2 ประเทศ 25% ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้า 15% สำหรับถ่านหินและ LNG และ 10% สำหรับน้ำมันดิบ เครื่องจักรทางการเกษตร และรถยนต์บางประเภท รวมถึงจำกัดการส่งออกแร่หายาก

EXIM BANK มองว่า สงครามการค้ารอบใหม่ จะส่งผลกระทบ และมีข้อพึงระวังที่ธุรกิจไทยต้องปรับกลยุทธ์เพื่อเตรียมรับมือ ดังนี้

1. มีข้อสังเกตว่า การดำเนินมาตรการภายใต้ Trump 2.0 เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีความเข้มข้นมากขึ้นกว่าสมัยแรก โดยเฉพาะ Trade War 2.0 ที่เริ่มต้นในไม่ถึงเดือนหลังรับตำแหน่งและมาตรการต่าง ๆ ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะกับจีน แต่พุ่งเป้าไปที่ประเทศคู่ค้าอื่นที่เกินดุลกับสหรัฐฯ และที่สำคัญการดำเนินมาตรการส่วนใหญ่ เป็นไปเพื่อกดดันให้เกิดการเจรจาต่อรอง ที่จะเอื้อประโยชน์สูงสุดให้แก่สหรัฐฯ ดังเช่นที่กำลังต่อรองกับแคนาดาและเม็กซิโก

2. สำหรับ Trade War 2.0 ระยะแรก ซึ่งสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 10% คาดว่าจะยังส่งผลกระทบต่อไทยไม่มากนัก เนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าและโลจิสติกส์ของจีน ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะไทย ทำให้แม้จีนถูกเก็บภาษีอีก 10% ไทยก็อาจยังได้ประโยชน์ไม่มากนักจากการส่งสินค้าไปตลาดสหรัฐฯ แทนจีน

อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจีนเพิ่มขึ้นอีกในระยะถัดไป ไทยก็มีโอกาสได้อานิสงส์เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องระวังสถานการณ์ที่จีนนำสินค้าที่ไม่สามารถส่งไปตลาดสหรัฐฯ มาทุ่มตลาดประเทศอื่น รวมถึงไทยแทน

3. ไทยยังต้องพึงระวังความเสี่ยงจากการถูกดำเนินมาตรการจากสหรัฐฯ จากที่กล่าวไปแล้วว่า Trump 2.0 มีการดำเนินมาตรการที่รวดเร็วและเข้มข้น ทำให้การที่ไทยเป็นคู่ค้าที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ อันดับที่ 12 มูลค่าราว 40,720 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 66 อาจกลายเป็นเป้าของสหรัฐฯ ในการใช้มาตรการการค้ามากดดันไทยเพื่อให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น สหรัฐฯ อาจขู่ขึ้นภาษีกับไทยเพื่อเจรจาให้ไทยนำเข้าสินค้าบางรายการจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าเกษตร

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามมาตรการไต่สวน AD/CVD จากสหรัฐฯ ที่อาจมีมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นการย้ายฐานมาจากจีน เช่นที่เกิดขึ้นแล้วกับสินค้าแผงโซลาร์

4. สำหรับแนวทางรับมือความเสี่ยงต่าง ๆ ในปี 68 ภาคธุรกิจต้องเน้นกลยุทธ์ในการแสวงหาตลาดศักยภาพใหม่ ๆ เพื่อเป็น Buffer ลดความผันผวนของการพึ่งตลาดสหรัฐฯ และจีนที่เป็นคู่ขัดแย้งหลักในสงครามการค้าครั้งนี้ เช่น ตลาดอินเดีย ที่เป็นประเทศวางตัวเป็นกลาง (Conflict-free Country) และเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มเติบโตดี รวมถึงตลาดฮาลาล ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงจากจำนวนชาวมุสลิมทั่วโลกที่มีอยู่ราว 2 พันล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของประชากรโลก

5. ความไม่แน่นอนทางการค้าจากนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ มีแนวโน้มทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ส่งออก จากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนตามมา ทำให้การลดความเสี่ยงด้วยเครื่องมือทางการเงิน เช่น การทำ Forward Contract เพื่อป้องกันความผันผวนของค่าเงิน ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ส่งออกไทยในปีนี้

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรทำ Scenario Planning เพื่อให้สามารถประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และวิเคราะห์ผลกระทบต่อธุรกิจ ช่วยให้เตรียมตัวรับมือ โดยไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาแล้วจึงแก้ไข

"การค้าโลกในปีนี้ ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะจากการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่งแม้ว่าอาจมีบางประเทศ หรือบางอุตสาหกรรมได้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว แต่ภาพรวมของผลกระทบ มีแต่จะบั่นทอนสถานการณ์การค้าโลก และทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลก และไทย ยังคงมีประเด็นที่ต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่อง" บทวิจัย ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ