สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนม.ค.68 อยู่ที่ 100.57 หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้น 1.32% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากที่ตลาดคาด 1.25-1.32% โดยมีปัจจัยหลักจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นผลจากฐานราคาต่ำในปีที่ผ่านมา ประกอบกับราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้น จากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นสำคัญ
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนม.ค.68 อยู่ที่ 101.08 หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.83% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน
พร้อมคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.พ. จะยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนม.ค. และคาดว่าตลอดทั้งไตรมาส 1/2568 อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นราว 1.1-1.2%
โดยในปี 2568 นี้ กระทรวงพาณิชย์ วางเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไป ไว้ที่กรอบ 0.3-1.3% หรือเฉลี่ยทั้งปีที่ 0.8% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง คงกรอบนโยบายการเงิน หรือเป้าหมายเงินเฟ้อปีนี้ไว้ที่ 1-3%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยใช้ข้อมูลสรุปล่าสุดทั้งปี 2567 ที่สูงขึ้น 0.40% พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทย ยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำเป็นอันดับ 6 จาก 135 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน จาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (บูรไน, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, สปป.ลาว และไทย)
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนม.ค.68 ได้มีการปรับเปลี่ยนรายการในตะกร้าสินค้าและบริการที่นำมาใช้คำนวณเงินเฟ้อ โดยได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 464 รายการ จากเดิม 430 รายการ เพื่อให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ และพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน
ส่วนเครื่องฟอกอากาศ ที่ปัจจุบันถือว่าเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันนั้น สนค. กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะนำเข้ามาไว้ในตะกร้าสินค้า เพื่อคำนวณเงินเฟ้อในอนาคต
"เราเริ่มเปลี่ยนใหม่ในเดือนม.ค. จากเดิม 430 รายการ เป็น 464 รายการ เป็นทั้งการปรับออก 34 รายการ และเพิ่มเข้ามาใหม่ 68 รายการ เพื่อให้สะท้อนพฤติกรรมการบริโภคได้ดีขึ้น รายการที่ตัดออก เช่น ค่านิตยสาร ค่าหนังสือพิมพ์ ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ เช่น แซลมอน, อโวคาโด, ผักสลัด, สมาร์ทวอช, ค่าพลังงานไฟฟ้า, กล้องติดรถยนต์ และฟิล์มติดหน้าจอโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น" นายพูนพงษ์ กล่าว
โดยในเดือนม.ค.68 พบว่ามีสินค้าและบริการสำคัญ ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (ม.ค.67) รวม 288 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า, ปลานิล, แตงกวา, กาแฟผงสำเร็จรูป, ค่าโดยสารเครื่องบิน, น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น
ส่วนสินค้าและบริการสำคัญ ที่ราคาปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน รวม 124 รายการ ได้แก่ ไก่ย่าง, พริกสด, มะนาว, ผักกาดขาว, แชมพูฐ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และค่าโดยสารรถไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่สินค้าและบริการสำคัญ ที่ราคาไม่มีการเปลี่ยนแปลง รวม 52 รายการ เช่น ค่าบริการขนขยะ, ค่าน้ำประปา, ค่าโดยสารแท็กซี่, ค่าโดยสารเรือ เป็นต้น
นายพูนพงษ์ ยังกล่าวถึง แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.พ.68 โดยคาดว่าจะอยู่ระดับใกล้เคียงกับเดือนม.ค.68 โดยปัจจัยที่จะสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย (1) ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ ที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน (2) การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าโดยสารเครื่องบิน และ (3) ราคาสินค้าเกษตรบางชนิดยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากปริมาณผลผลิตยังไม่เข้าสู่ระดับปกติ หลังจากได้รับผลกระทบของภัยแล้งอย่างยาวนาน โดยเฉพาะพืชสวน เช่น มะพร้าว
ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ประกอบด้วย (1) ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้าครัวเรือน และการตรึงราคาก๊าซ LPG (2) ฐานราคาผักสดในปีก่อนที่อยู่ในระดับสูง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ขณะที่ในปี 2568 สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ระบบมากขึ้น และ (3) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
"คาดว่าเงินเฟ้อเดือนก.พ.นี้ จะยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ส่วนทั้งไตรมาส 1 ปีนี้ คาดว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้นอยู่ในช่วง 1.1-1.2% ...โดยเงินเฟ้อจะเป็นขาขึ้นได้อย่างน้อยจนถึงไตรมาสแรกปีนี้ มองว่าอัตราเงินเฟ้อที่ระดับนี้ มีความเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน" ผู้อำนวยการ สนค.กล่าว
ส่วนกรณีที่รัฐบาลสั่งระงับการจ่ายไฟฟ้าตามแนวชายแดน 5 จุด เพื่อสกัดกั้นการใช้ไฟฟ้าในฐานปฏิบัติการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้านนั้น ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์ และพาณิชย์จังหวัดว่า การขนส่งสินค้าผ่านสะพานมิตรภาพ ไทย-เมียนมา ยังเป็นไปตามปกติ ไม่ได้รับผลกระทบใดต่อการตัดไฟฟ้าในครั้งนี้
ขณะที่มาตรการแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป (เงินหมื่น เฟส 2) เมื่อปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมานั้น นายพูนพงษ์ กล่าวว่า การแจกเงินดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อแต่อย่างใด