กสทช.วางไทม์ไลน์เคาะราคาประมูล 6 คลื่นโทรคมนาคม พ.ค.68 โอเปอเรเตอร์รุมแย้งแพงเกิน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 6, 2025 14:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กสทช.วางไทม์ไลน์เคาะราคาประมูล 6 คลื่นโทรคมนาคม พ.ค.68 โอเปอเรเตอร์รุมแย้งแพงเกิน

นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คาดว่า สำนักงาน กสทช.จะเปิดประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล จำนวน 6 ย่านความถี่ในช่วงเดือน พ.ค.68 หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูลฯ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 20 มี.ค.68 และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล่ว น่าจะเปิดให้รับคำขอใบอนุญาตได้ภายในเดือน เม.ย.68

กสทช.จะจัดประมูลคลื่นความถี่ 6 ย่านดังนี้

  • ย่านความถี่ 850 MHz จำนวน 2 ชุด ขนาด 2x5 MHz ราคาขั้นต่ำ 6,609 ล้านบาท/ชุดคลื่นความถี่
  • ย่านความถี่ 1500 MHz จำนวน 11 ชุด ขนาด 5 MHz ราคาขั้นต่ำ 904 ล้านบาท/ชุดคลื่นความถี่
  • ย่านความถี่ 1800 MHz จำนวน 7 ชุด ขนาด 2x5 MHz ราคาขั้นต่ำ 6,219 ล้านบาท/ชุดคลื่นความถี่
  • ย่านความถี่ 2100 MHz FDD จำนวน 12 ชุด ขนาด 2x5 MHz ราคาขั้นต่ำ 3,391 ล้านบาท/ชุดคลื่นความถี่ และ คลื่นความถี่ 2100 MHz TDD จำนวน 3 ชุด ขนาด 5 MHz ราคาขั้นต่ำ 497 ล้านบาท/ชุดคลื่นความถี่
  • ย่านความถี่ 2300 MHz จำนวน 7 ชุด ขนาด 10 MHz ราคาขั้นต่ำ 1,675 ล้านบาท/ชุดคลื่นความถี่
  • ย่านความถี่ 26 GHz จำนวน 1 ชุด ขนาด 100 MHz ราคาขั้นต่ำ 423 ล้านบาท/ชุดคลื่นความถี่

ทั้งนี้ ในการประมูลครั้งนี้ กสทช. เสนอให้แบ่งกลุ่มประมูลเป็น

กลุ่ม 1 คลื่นความถี่ต่ำและกลางแบบเป็นคู่ (pair band) ได้แก่ 840MHz 1800MHz และ 2100MHz FDD

กลุ่ม 2 คลื่นความถี่กลางแบบไม่เป็นคู่ (unpair band) ได้แก่ 1500 MHz 2100 MHZ TDD

และ กลุ่ม 3 คลื่นความถี่สูง คือ 26GHz

ทุกคลื่นความถี่จะมีระยะเวลาอนุญาตให้ใช้ 15 ปีนับตั้งแต่ 4 ส.ค.68 ยกเว้นคลื่น 2100 MHz FDD จะมีอายุ 13 ปี เพราะจะหมดอายุในวันที่ 6 ธ.ค. 70

ในที่ประชุมการรับฟังความคิดเห็นวันนี้ นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร หัวหน้าสายงานรัฐกิจสัมพันธ์และกำกับดูแล ตัวแทนจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น [TRUE] เห็นว่า กสทช.มาถูกทางที่เปิดประมูลคลื่นแบบ Multi Band แต่การจัดกลุ่มประมูลไม่ตอบโจทย์ เพราะเห็นว่าควรเปิดประมูลพร้อมกันทั้ง 6 คลื่น ไม่อยากให้แบ่งกลุ่ม และหากจัดกลุ่ม อาจทำให้การประมูลไม่ประสบความสำเร็จสูง

และไม่เห็นด้วยกับราคาขั้นต่ำที่ กสทช.เสนอมา ยกตัวอย่างคลื่น 1800 MHz ที่ในอดีตจัดสรรไม่สำเร็จ และมีราคาสูงกว่า Benchmark รวมถึงงวดการชำระเงิน (payment term) แต่ละงวดสูงเกินไป โดยปีแรกจ่าย 50% ของราคาประมูล ปีที่ 2 และ 3 ชำระ 25% ไม่สอดคล้องกับเศรษฐไทยตกต่ำ อยากให้แบ่งชำระ 10 งวดๆ ละ 10%

ด้านนายมติ เจริญศิริ ตัวแทนจาก บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็คเวิรค์ (AWN ) ในกลุ่ม บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส [ADVANC] ให้ความเห็นว่า ประเด็นราคาขั้นต่ำอยากให้ กสทช.คำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจไทยที่เพิ่งฟื้นตัวจากโควิด และยังมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัย สภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อนหน้าที่เคยประมูลคลื่น และยังมีดาวเทียมวงโคจรต่ำจากสหรัฐ จีน อังกฤษ เข้ามาแข่งขัน ยิ่งทำให้โอเปอเรเตอร์มีความเสี่ยงมากขึ้น โดยยกตัวอย่างราคาขั้นต่ำคลื่น 1800MHz ที่ราคาขั้นต่ำค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้หยิบยกให้นำคลื่น 3500MHz ออกมาประมูลด้วยในคราวเดียวกัน ด้านนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า กสทช.เปิดรับฟังความคิดเห็นถึงวันที่ 20 ก.พ.นี้ กสทช.จะนำความคิดเห็นมาปรับปรุงร่างประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ และนำเสนอบอร์ด กสทช.จากนั้นก็ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนเปิดประมูล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ