นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3 โดยยืนยันชัดเจนว่าจะเดินหน้าแน่นอนภายในไตรมาส 2/68 ซึ่งจะนำเสนอรายละเอียดของโครงการฯ ให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาได้ในช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้ หลังจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับรายละเอียดการดำเนินโครงการในเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว
รมช.คลัง ยอมรับว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการพิจารณาปรับลดเงื่อนไขบางเรื่องในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท เพื่อให้กลไกในการหมุนของเม็ดเงินง่ายขึ้น และเพื่อให้การเข้าถึงของประชาชนที่จะนำเม็ดเงินไปเปลี่ยนเป็นเงินสด หรือเดินหน้าธุรกิจได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นไปตามธงหลักของโครงการ ที่พุ่งเป้าหมายในเรื่องของการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ
"หลังจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะประชุมอีก 1-2 ครั้ง ก่อนที่จะสรุป เพื่อเสนอรายละเอียดเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และเสนอให้ ครม. พิจารณาต่อไป โดยในเฟส 3 นี้จะมีเม็ดเงินอีกราว 1.5 แสนล้านบาท ถือเป็นเม็ดเงินก้อนใหญ่ ที่จะยิงตรงไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจะมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี" นายจุลพันธ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถาบันการเงิน และนอนแบงก์ ถึงการเชื่อมโยงระบบในรูปแบบ Open Loop โดยหลัก ๆ จะนำร่องกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ยืนยันที่จะเข้าร่วมในโครงการผ่านการเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" เพื่อให้ประชาชนใช้จ่ายได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
"แนวทางการโอนเงิน ในเฟส 3 จะเป็นในรูปแบบดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ใช่เงินสด ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย และความมั่นใจของระบบบ Block chain ที่จะนำมาใช้งานในครั้งนี้อย่างมาก" รมช.คลัง ระบุ
ส่วนประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟนนั้น รมช.คลัง ยืนยันว่า รัฐบาลจะมีการเปิดให้ลงทะเบียนอย่างแน่นอน โดยต้องรอดูความชัดเจนภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก่อน ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการได้ใกล้เคียงกับการดำเนินการจ่ายเงิน ในเฟสที่ 3
รมช.คลัง กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ยังได้มีการหารือเกี่ยวกับมาตรการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในมิติอื่น เช่น ด้านเกษตร, ด้านคมนาคม, ด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้มีการนำเสนอใน 2 ส่วน คือ โครงการที่รัฐบาลได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว และยังเดินหน้าอยู่ 20 โครงการ และโครงการที่จะเริ่มขึ้นใหม่อีกราว 10 โครงการ ซึ่งยังไม่รวมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท โดยคณะอนุกรรมการฯ ยังเปิดโอกาสให้หน่วยงานสามารถส่งโครงการต่าง ๆ เข้ามาเพิ่มเติมได้ เพื่อพิจารณาว่ามีโครงการอะไรที่จะเป็นประโยชน์ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้