ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 33.64 แข็งค่าต่อเนื่องเกาะกลุ่มภูมิภาค คาดกรอบต้นสัปดาห์หน้า 33.55-33.80

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 7, 2025 17:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ 33.64 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าต่อ เนื่องจากเปิดตลาดเมื่อเช้าที่ระดับ 33.76 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวตามสถานการณ์ราคาทองในตลาดโลก โดยยังเกาะกลุ่มไปกับค่าเงิน ในภูมิภาค ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.62 - 33.82 บาท/ดอลลาร์

"บาทเคลื่อนไหวไปตามราคาทองในตลาดโลก แต่ยังเกาะกลุ่มกับค่าเงินในภูมิภาค" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันจันทร์ไว้ที่ 33.55 - 33.80 บาท/ดอลลาร์ คืนนี้ตลาดรอดู การประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ (Non-farm Payroll)

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยน อยู่ที่ระดับ 151.72 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเช้าที่ระดับ 151.02 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0394 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเช้าที่ระดับ 1.0384 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,282.09 จุด เพิ่มขึ้น 20.02 จุด, +1.59% มูลค่าซื้อขาย 57,651.93 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 1,086.34 ล้านบาท
  • รมช.คลัง มั่นใจเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวได้ 3% แต่ยังไม่ใช่ระดับที่น่าพอใจ เพราะรัฐบาลเชื่อว่าจะสามารถ
ผลักดันและสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นได้ถึง 3.5% ผ่านแนวทางการบริหารต่าง ๆ เช่น การเร่งรัดเบิกจ่าย โดยเฉพาะราย
จ่ายลงทุน หากปีนี้ทำให้ได้ 80% จากเป้าหมายที่ 75% จะช่วยให้ GDP ขยายตัวเพิ่มได้ 0.11% รวมถึงติดตามกระบวนการใช้จ่ายเงิน
และอุดรูรั่วต่าง ๆ ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3 จะช่วยให้ GDP ขยายตัวเพิ่มได้ 0.1% จากกรณีปกติ
  • ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ประเมินเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 68 เติบโต 3.3% โดยยังเติบโตในระดับที่ค่อนข้างสูง
กว่าสถาบันอื่น ๆ เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่ยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ
ซึ่งในช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมายังคงเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ยังมีจำนวนที่สูง
  • ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) มีมุมมองว่า ค่าเงินบาทในปี 68 จะเผชิญกับความผันผวนสูงขึ้นกว่า
ช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ที่สูงอยู่ก่อนแล้ว จากบริบทเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไป ขณะที่ผลกระทบจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยเฉพาะการกีดกัดทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยซ้ำเติมความผันผวนของค่าเงิน แนะการบริหารความ
เสี่ยงค่าเงินผ่านการใช้เงินสกุลท้องถิ่น จะช่วยเตรียมพร้อมในการรองรับผลกระทบของความผันผวนได้บางส่วน
  • ธนาคารกลางจีน (PBOC) เพิ่มปริมาณทองคำสำรองเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันในเดือน ม.ค. แม้ราคาทองคำจะพุ่งขึ้นทุบ
สถิติใหม่นับตั้งแต่ต้นปีก็ตาม
  • ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากสงครามการค้าและ
มาตรการในด้านต่าง ๆ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า การกลับเข้ามารับตำแหน่งอีกสมัยของปธน.ทรัมป์ อาจส่งผล
กระทบต่อกฎระเบียบการเงินโลกที่เปราะบางอยู่แล้ว รวมถึงอาจทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรป แข่งขันกันลดมาตรฐาน
การกำกับดูแลทางการเงิน
  • นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่แท้จริงของญี่ปุ่นจะขยายตัว 1% ในไตรมาส
4/2567 เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 1.2% และเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส คาดว่า GDP จะขยาย
ตัว 0.3%
  • เจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้แสดงความกังวลว่า มาตรการภาษีศุลกากรของปธน.ทรัมป์เป็นหนึ่งในความ
ท้าทายสำคัญในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของเฟดในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
  • ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศว่า การทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ของภาคธนาคารในปี 2568 จะมุ่ง
เน้นไปที่การทดสอบผลกระทบของธนาคารรายใหญ่ที่ปล่อยกู้ในตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์และเพื่อการอยู่อาศัย
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยในวันพฤหัสบดี (6 ก.พ.) ว่า IMF กำลังติดตามสถานการณ์ในสหรัฐฯ

อย่างใกล้ชิด ซึ่งรวมถึงคำสั่งบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการตัดงบช่วยเหลือต่างประเทศและการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน แต่

ระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบดังกล่าวได้อย่างชัดเจน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ