![สศอ.ประเมิน 5 อุตสาหกรรมเด่นปี 68 โตตามปัจจัยหนุนรอบด้าน](/img/files/20250209/iq63adceb18a336f980f7dcb7bcbe85b68.jpg)
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ในปี 2568 อุตสาหกรรมเด่นที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 โครงการ Easy E-Receipt 2.0 รวมถึงการท่องเที่ยวที่โตต่อเนื่องตามการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) และกระแส Soft Power ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าแสนล้านบาท ช่วยกระตุ้นธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกในประเทศ ประกอบกับผู้บริโภคในปัจจุบันมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Wellness) ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารอนาคต (Future Food) ทั้งอาหารทางการแพทย์ อาหารที่มีคุณสมบัติเฉพาะรายบุคคล (Personalized Foods) ในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ควบคุมน้ำหนักมีความต้องการเพิ่มขึ้น ตลอดจนประเทศไทยยังเป็นเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกหลายรายการ เช่น ไก่แปรรูป ปลาทูน่ากระป๋อง และ อาหารสัตว์สำเร็จรูป ช่วยให้การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
2.อุตสาหกรรมต่อเนื่องในห่วงโซ่การผลิตที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้รับอานิสงส์จากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งเน้นการจัดส่งสินค้าหรือการให้บริการ Delivery ที่ขยายตัวตามธุรกิจ E-Commerce เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น
3.อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ เช่น พลาสติก กระดาษ และโลหะที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการผลิตนับตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
4.อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งพบว่าการผลิตเครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า และตู้เย็น ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวตามการเติบโตของสังคมเมือง สะท้อนจากการจำหน่ายในประเทศและมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับไทยได้แต้มต่อจากการเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติเกาหลีและญี่ปุ่น ซึ่งมาตรฐานของสินค้าได้รับการยอมรับระดับโลก
5.อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) ได้แรงหนุนจากการค้าผ่านช่องทาง Social Commerce และการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ผ่าน Digital Wallet ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ควบคู่ไปกับการก้าวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ที่จำเป็นต้องนำเทคโนโลยี Cloud Computing เข้ามาใช้ประมวลผล จัดเก็บ และบริหารข้อมูล สะท้อนได้จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เผยยอดมูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัลในปีที่ผ่านมาสูงถึง 2.4 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการ Data Center และ Cloud Service ทำให้การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากเซิร์ฟเวอร์กว่า 75% จำเป็นต้องใช้ HDD ในการเก็บข้อมูลปริมาณมาก รวมถึง 80% HDD ทั้งโลกผลิตในไทย
"ในปี 2568 อุตสาหกรรมดาวเด่นได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและบรรยากาศการค้าโลก ขณะที่บางอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัว เนื่องจากเผชิญกับความท้าทายต่อการปรับตัวให้ทันต่อเทรนด์โลกและการแข่งขันที่สูงขึ้น เพื่อรักษาขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ผู้ประกอบการควรปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับผลิตภาพการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อทดแทนการนำเข้าและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลก" นายภาสกร กล่าว
ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์สันดาป (ICE) วัสดุก่อสร้าง และเฟอร์นิเจอร์ ต้องเร่งปรับตัวจากปัจจัยเชิงลบของหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง รวมทั้งสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ บั่นทอนให้การผลิตรองรับการบริโภคชะลอตัว ขณะเดียวกันผลกระทบจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่ทะลักเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยังคงเป็นปัจจัยกดดันที่ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญ