BAY คาดกรอบบาทสัปดาห์นี้ 33.60-34.35 ลุ้นเงินเฟ้อสหรัฐ จับสัญญาณดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 10, 2025 11:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.60-34.35 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าเล็กน้อยที่ 33.65 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 33.57-34.15 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 เดือน เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ยกเว้นเงินยูโรในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะที่ข้อมูลภาคบริการเดือนม.ค.ของสหรัฐฯ แย่กว่าคาด และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) สหรัฐฯ ลดลง หลังประธานาธิบดีทรัมป์ชะลอการขึ้นภาษี 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากแคนาดา และเม็กซิโก ทำให้ตลาดคาดหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะสามารถหลีกเลี่ยงสงครามการค้าในวงกว้างได้ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อจากนโยบายของทรัมป์

นอกจากนี้ เงินเยนแตะระดับแข็งค่าสูงในรอบ 2 เดือน ขณะที่นักลงทุนปรับมุมมองต่อการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ส่งผลให้บอนด์ยิลด์ญี่ปุ่นอายุ 10 ปีพุ่งขึ้น สวนทางกับการย่อลงของบอนด์ยิลด์ในประเทศเศรษฐกิจหลักแห่งอื่น ๆ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 2,493 ล้านบาท และ 5,925 ล้านบาท ตามลำดับ

โดยภาพรวมในสัปดาห์นี้ ผู้ร่วมตลาดจะติดตามการรายงานข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค, ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดค้าปลีก เดือนม.ค.ของสหรัฐฯ รวมถึงคำแถลงนโยบายของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต่อสภาคองเกรส เพื่อที่จะประเมินจังหวะเวลาที่เฟดจะลดดอกเบี้ยครั้งถัดไป หลังข้อมูลบ่งชี้ว่า อัตราการว่างงานขยับลงสู่ 4.0% และค่าจ้างเร่งตัวขึ้นผิดคาดในเดือนม.ค. ซึ่งเปิดช่องให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สามารถคงดอกเบี้ยได้นานขึ้น

นอกจากนี้ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับกระแสข่าวที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ กับสหรัฐฯ หลังจีนประกาศตอบโต้ผู้นำสหรัฐฯ ด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติเหลว น้ำมันดิบ อุปกรณ์ด้านการเกษตร และรถยนต์บางประเภท โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. ในภาวะดังกล่าว เราคาดว่าแรงจูงใจในการขายเงินดอลลาร์จะลดลงในระยะนี้

ส่วนปัจจัยในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป) เดือนม.ค.ของไทย เพิ่มขึ้น 1.32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3% เป็นเดือนที่สองติดต่อกัน ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน) สูงขึ้น 0.83% โดยกระทรวงพาณิชย์ คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.1-1.2% ในไตรมาส 1/2568 อย่างไรก็ดี เรายังไม่ตัดโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยในการประชุมปลายเดือนนี้ (26 ก.พ.)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ