จับตาสมรภูมิ AI แรงหนุนสำคัญในการปฏิวัติทางเทคโนโลยี แนะไทยเร่งจัดกระบวนทัพ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 10, 2025 11:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จับตาสมรภูมิ AI แรงหนุนสำคัญในการปฏิวัติทางเทคโนโลยี แนะไทยเร่งจัดกระบวนทัพ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ท่ามกลางการแข่งขันและสงครามเทคโนโลยีที่กำลังร้อนระอุ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ และยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด

โดยการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในยุคแรก คือ Machine Learning และต่อมา ได้ถูกพัฒนาต่อยอดไปสู่ Deep Learning ที่ใช้ในการประมวลผลข้อมูลที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น สำหรับในระยะข้างหน้า เรามองว่าเทรนด์ AI จะมุ่งเน้นไปที่ความสามารถในการตอบโต้กับโลกกายภาพได้มากขึ้น ได้แก่ 1) ยานยนต์ไร้คนขับ ที่เป็นระบบการขับขี่โดยไม่มีมนุษย์ควบคุม 2) เทคโนโลยี Digital Twin ที่สร้างแบบจำลองเสมือนจริงของวัตถุทางกายภาพ และ 3) Avatar AI ที่เป็นการสร้างตัวแทนบุคคลเสมือนจริง

ส่งผลให้ตลาดของเทคโนโลยี AI ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลของ Statista คาดว่า มูลค่าตลาดของเทคโนโลยี AI มีแนวโน้มเติบโตราว 27.6% ต่อปีในช่วงปี 68-73 มาอยู่ที่ 8.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 73

SCB EIC คาดการณ์ว่า แนวโน้มความต้องการเทคโนโลยี AI ในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของเทคโนโลยี AI เติบโตต่อเนื่อง โดยกลุ่มที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน AI ประกอบไปด้วย กลุ่มฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล เช่น Data center และ Cloud service ไปจนถึงกลุ่มผู้ให้บริการที่เป็นผู้พัฒนาโปรแกรม หรือแอปพลิเคชัน

โดยกลุ่มธุรกิจที่จะได้ประโยชน์ คือ

1) ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ นับตั้งแต่ผู้ผลิตเครื่องจักรสำหรับผลิตชิปขั้นสูงอย่าง ASML ผู้ผลิตและออกแบบชิป (NVIDIA) ผู้รับจ้างผลิต (TSMC) ไปจนถึงกลุ่มให้บริการแพ็กเกจ ประกอบและทดสอบชิป

2) อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ ซึ่งปัจจุบันธุรกิจต่าง ๆ ได้เริ่มนำเอาซอฟต์แวร์ AI มาใช้ในการประมวลผลข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น เช่น ธุรกิจ Healthcare ที่นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลด้านสุขภาพ วินิจฉัยและรักษาโรค รวมถึงการดูแลผู้ป่วย เป็นต้น ทั้งนี้ Gartner คาดการณ์ว่าตลาดซอฟต์แวร์ AI มีแนวโน้มจะเติบโตเฉลี่ยราว 19% ต่อปีในช่วงปี 66-70

3) ธุรกิจ AI applications ไม่ว่าจะเป็น ChatGPT และ Google Gemini ที่มีการแข่งขันกันในการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยอัจฉริยะ ที่สามารถให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือในการสร้างสรรค์ข้อมูลใหม่ โดยคาดว่า ชิป ASIC ที่ถูกนำไปใช้งานในแอปพลิเคชัน AI ต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่อง โดยข้อมูลของ J.P. Morgan ระบุว่า ยอดขายชิป ASIC โลก มีแนวโน้มเติบโตราว 42% ต่อปีในช่วงปี 66-71 มาอยู่ที่ 9.9 ล้านชิ้นในปี 71

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยี AI กำลังเติบโตท่ามกลางความท้าทาย จากทั้งความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการผูกขาดทางการค้าจากผู้เล่นรายใหญ่ นโยบายการค้าการลงทุนของโดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตของเทคโนโลยี AI อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งแผนที่จะทุ่มงบประมาณ เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมชิปและเทคโนโลยี AI ในประเทศ และทรัมป์ยังคงดำเนินนโยบายและเพิ่มมาตรการควบคุมการส่งชิปขั้นสูงไปจีน เพื่อกีดกันจีนจากการพัฒนาแอปพลิเคชัน AI ต่อจากโจ ไบเดน

นอกจากนี้ ในปัจจุบัน ตลาดชิป AI ของโลก ยังคงถูกผูกขาดด้วยผู้เล่นรายใหญ่ของสหรัฐฯ ขณะที่ NVIDIA ได้ครองตลาดชิป GPU เรายังพบอีกว่า Google ซึ่งเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ได้เป็นเจ้าตลาดในฝั่งของชิป ASIC ซึ่งอาจส่งผลให้ชิป AI มีราคาสูงขึ้น และเกิดปัญหาอุปทานคอขวดจากขาดแคลนชิปในระยะต่อไปได้

SCB EIC ประเมินว่า จากแนวโน้มความต้องการเทคโนโลยี AI ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะส่งผลดีต่อกลุ่มผู้ผลิตชิป และส่วนประกอบที่ไม่รวมชิปต้นน้ำ โดยผู้ประกอบการไทย จะได้ประโยชน์ใน 2 ด้าน ดังนี้

1. ด้านการส่งออก เช่น กลุ่มผู้ผลิตชิปและส่วนประกอบที่ไม่รวมชิปต้นน้ำ ซึ่งปัจจุบัน ไทยอยู่ในกลุ่มผู้ให้บริการแพ็กเกจ ประกอบและทดสอบชิป และกลุ่มคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ที่ประเมินว่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวไปยังสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากการที่สหรัฐฯ ทดแทนการนำเข้าสินค้าจากจีน และเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี AI โดยคาดว่าในปี 2567 ไทยจะมีสัดส่วนการส่งออกชิปและคอมพิวเตอร์ไปยังตลาดสหรัฐฯ มากถึง 83% และ 40% ของการส่งออกสินค้าในหมวดนี้ทั้งหมด

2. ด้านการลงทุน นับตั้งแต่เกิดสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้เกิดการขยายการลงทุนมายังอาเซียนรวมถึงไทย สะท้อนได้จากข้อมูลของ BOI พบว่า ในปี 2566 ต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรม E&E โดยมีโครงการขนาดใหญ่ เช่น การผลิต Wafer การประกอบและทดสอบชิป นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจ Data center และ Cloud service ที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากกว่า 167,989 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการรองรับการเติบโตของกลุ่มเทคโนโลยี AI ในอนาคต

อย่างไรก็ดี ไทยยังมีอุปสรรคและความท้าทายจากการพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เพื่อรองรับเทคโนโลยี AI ที่ส่งผลให้ยังเป็นรองจากประเทศคู่แข่ง

ปัจจุบันสหรัฐฯ มีสัดส่วนพึ่งพาการนำเข้าอุปกรณ์ชิปจากไทยเพียง 7% เมื่อเทียบกับสัดส่วนการพึ่งพาการนำเข้าจากมาเลเซียที่มากกว่า 17% ของการนำเข้าชิปทั้งหมดของสหรัฐฯ ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญของไทยที่ส่งผลให้ยังมีส่วนแบ่งตลาดที่น้อยกว่าคู่แข่ง เนื่องมาจากการขาดความพร้อมของห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ชิปต้นน้ำ นอกจากนี้ ไทยยังขาดการวิจัยและพัฒนาในกลุ่มสินค้านวัตกรรมใหม่ และยิ่งไปกว่านั้นเอง ไทยยังคงเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะดิจิทัลและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับไทยในการพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าไฮเทคให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งสำคัญต่าง ๆ ได้

SCB EIC เห็นว่า ไทยจะต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างในภาคการผลิต เพื่อรองรับการผลิตชิปขั้นสูง สินค้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สำหรับ AI ไปจนถึงอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล และหน่วยความจำที่สามารถรองรับเทคโนโลยี AI โดยจะต้องเร่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ร่วมกับการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะสูง ทั้งกลุ่มแรงงานที่มีอยู่เดิม และกลุ่มแรงงานใหม่ เช่น วิศวกรเซมิคอนดักเตอร์ และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ผู้เชี่ยวชาญ ที่ยังขาดแคลนอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นความเสี่ยงต่อภาคการผลิตในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง

ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องเร่งพัฒนาเพื่อสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อรองรับการเข้ามาลงทุนของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในไทย และสิ่งที่จะขาดไม่ได้ คือ การพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อที่ไทยจะได้ก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีที่สำคัญแห่งอาเซียน และตอบโจทย์ความยั่งยืนในอนาคตไปพร้อม ๆ กัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ