นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เตรียมเรียกหารือรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจในช่วงต้นสัปดาห์หน้า เพื่อเร่งหามาตรการฟื้นความเชื่อมั่น เพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย หลังจากปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ทั้งเป็นแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้น และทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไตรมาส 2/51 โดยคาดว่ามาตรการต่าง ๆ จะเริ่มทยอยออกมาใช้ได้ในช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้
"มาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้แม้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโต แต่ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมัน"นพ.สุรพงษ์ กล่าวในการแถลงผลการประชุม 5 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจในช่วงเย็นวันนี้
ทั้งนี้ นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1/51อยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากราคาน้ำมันที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ทางการจะนำมาตรการที่เร่งประหยัดพลังงานมาใช้เป็นมาตรการแรกในกลุ่มนี้ เรื่องราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเร็วกว่าที่คาดมาก จากเดิมที่จะเคยประเมินว่าน้ำมันดิบในตลาดโลกจะสูงขึ้นมาที่ 120 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในช่วงไตรมาส 3/51 แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันได้ปรับขึ้นไปถึงระดับดังกล่าวแล้ว ส่งผลกระทบต่อมาตรการที่รัฐได้ออกมาใช้ก่อนหน้านี้ และทำให้ความเชื่อมั่นโดยเฉพาะของคนในเมืองลดลงทันที
ดังนั้น มาตรการที่จะนำมาใช้ จะประกอบด้วย การปรับระบบรถขนส่งมวลชนมาใช้เครื่องยนต์ NGV และปรับเส้นทางเดินรถให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน รวมถึงการสนับสนุนการติดตั้งเครื่องยนต์ NGV ให้ค่าใช้จ่ายลดลงจากปัจจุบันประมาณ 50% ซึ่งประเด็นนี้น่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน นอกจากนั้น ยังมีมาตรการที่สามารถดำเนินการได้เลย เช่น การปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสม
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า จะนำมาตรการที่เป็นข้อเสนอต่าง ๆ มาหารือในที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจในสัปดาห์หน้าเพื่อหาข้อสรุปก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี ซึ่งจะไม่ใช่มาตรการเหมือนเช่นในอดีตที่เริ่มจากส่วนราชการ แต่จะกระจายทุกภาคส่วน และมีการประเมินผลอย่างจริงจัง อีกทั้งไม่มีนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศ
"มาตรการที่ออกมาจะจูงใจมากและเพียงพอที่จะให้มีการประหยัดพลังงาน แม้ว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 30% นับจากต้นปีจะเป็นแรงจูงใจที่มากแล้วก็ตาม"นพ.สุรพงษ์ กล่าว
นอกเหนือจากการประหยัดพลังงานแล้ว ภาครัฐยังจะเน้นเรื่องการสร้างรายได้ ที่จะต้องหารือกับภาคเอกชนรายสาขาต่าง ๆ ถึงแนวทางการเพิ่มรายได้ใด้กับประชาชน รวมทั้งการเพิ่มกำลังการผลิต โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และการสร้างความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่ง โดยกำหนดการประชุมรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจทุก 3 สัปดาห์ เพื่อหามาตรการมารองรับสถานการณ์อย่างรวดเร็ว
นพ.สุรพงษ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการว่า ที่ประชุม 5 หน่วยงานวันนี้หลีกเลี่ยงที่จะหารือภายใต้หลักจริยธรรม แต่ที่ประชุมก็มีความเห็นว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยไม่ควรส่งผลให้เศรษฐกิจฟุบ แต่ควรจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้ด้วยดี
--อินโฟเควสท์ โดย ธนวัฏ เสือแย้ม/ศศิธร/กษมาพร โทร.0-2253-5050 อีเมล์: kasamarporn@infoquest.co.th--