สัญญาณดี! ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าฯ ม.ค.ดีขึ้นทุกภาค มาตรการรัฐช่วยกระตุ้นการจับจ่าย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 13, 2025 14:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาณดี! ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าฯ ม.ค.ดีขึ้นทุกภาค มาตรการรัฐช่วยกระตุ้นการจับจ่าย

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนม.ค.68 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 27-31 ม.ค.67 พบว่า ดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 49.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 48.7 ในเดือนธ.ค.67

โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนม.ค.68 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค. 0.3 จุด บ่งบอกในเบื้องต้นว่า ดัชนีฯ เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น แม้ค่าดัชนีฯ จะยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 ก็ตาม อันเนื่องมาจากผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ และการจ้างงาน

สัญญาณดี! ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าฯ ม.ค.ดีขึ้นทุกภาค มาตรการรัฐช่วยกระตุ้นการจับจ่าย

นายวชิร กล่าวว่า ผู้ประกอบธุรกิจในหลายจังหวัด มีมุมมองว่าการบริโภคดีขึ้นเกือบทุกพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทยอยออกมาตั้งแต่ช่วงต้นปี ไม่ว่าจะเป็น Easy E-Receipt, เงินโอน 10,000 บาทในเฟส 2 ที่ให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมทั้งโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ประกอบกับมีเม็ดเงินจากการลงทุนทางตรงของต่างประเทศ (FDI) ที่เริ่มเข้ามา การท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ที่มีสัญญาณดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น สินค้าเกษตรหลายรายการยังทรงตัวในระดับสูง ซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

พร้อมกันนี้ ผู้ประกอบธุรกิจยังมองว่า เศรษฐกิจในระยะ 6 เดือนข้างหน้า มีสัญญาณที่จะปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน แต่ทั้งนี้ อาจต้องจับตาเรื่องการจ้างงาน และการค้าชายแดน หลังจากรัฐบาลไทยมีมาตรการสะกัดกั้นการทำงานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในฝั่งเมียนมา ด้วยการตัดไฟฟ้า อินเตอร์เน็ต และน้ำมัน ซึ่งต้องรอดูผลสะท้อนที่อาจจะเกิดขึ้นกับดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนก.พ. ว่าจะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เดือนม.ค.68 เป็นดังนี้

  • กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 49.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค.67 ซึ่งอยู่ที่ 49.0
  • ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 48.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค.67 ซึ่งอยู่ที่ 48.8
  • ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 52.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค.67 ซึ่งอยู่ที่ 51.6
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 47.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค.67 ซึ่งอยู่ที่ 47.4
  • ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 48.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค.67 ซึ่งอยู่ที่ 48.4
  • ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 47.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค.67 ซึ่งอยู่ที่ 47.4

โดยปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในเดือนม.ค.68 ได้แก่

1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การโอนเงิน 10,000 บาท และมาตรการ Easy E-receipt ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจครึ่งปีแรกมีแนวโน้มเติบโต

2. การลงทุนภาคเอกชนที่จะกลับมาขยายตัว ตามแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจแห่งอนาคต

3. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคมากขึ้น

4. การส่งออกของไทยเดือนธ.ค.67 ขยายตัว 8.68%

5. ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง

6. พืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวอยู่ในระดับที่ดีเกือบทุกรายการ

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่

1. กระทรวงการคลัง เผยเศรษฐกิจไทยปี 67 ขยายตัว 2.5% ขณะที่คาดว่าปี 68 จะขยายตัวได้ 3.0%

2. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต

3. การปรับค่าแรงขั้นต่ำ ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจมีต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเกษตร และก่อสร้าง

4. ปัญหาค่าครองชีพ ผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่าย ส่งผลต่อยอดขายของธุรกิจที่อาจไม่เติบโต

5. ปัญหาฝุ่น PM2.5 กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน

6. ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออก และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

7. เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย สะท้อนว่ามีเงินไหลออกสุทธิ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา ดังน้

  • มาตรการควบคุมราคาต้นทุนปัจจัยการผลิต ซึ่งยังอยู่ในระดับสูง และเริ่มกระทบต่อผู้ประกอบการภาคการผลิต
  • สินค้าอุปโภคบริโภคยังมีแนวโน้มราคาเพิ่มสูงขึ้น รัฐควรมีมาตรการลดภาระต้นทุน และเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน การสนับสนุนด้านเงินทุนและหนี้สิน เพื่อรักษาสภาพคล่องธุรกิจ
  • มาตรการที่สร้างแรงจูงใจในการใช้จ่าย รวมถึงการลงทุนปรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และสนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ ในการเข้าสู่ธุรกิจสีเขียว
  • แนวทางการหาเครือข่าย หรือกลุ่มธุรกิจที่มีลักษณะธุรกิจใกล้เคียงกัน เพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ
  • มาตรการช่วยเหลือภาระหนี้สินและเงินทุน เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อาจเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่อง
  • รักษาเสถียรภาพทางด้านการเงินให้สมดุล เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ