จับตา "เศรษฐกิจดิจิทัล" โอกาส-ความเสี่ยง-ทางรอด ของไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 13, 2025 17:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จับตา

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึง "เศรษฐกิจดิจิทัล" ว่า การขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นเรื่องจำเป็น เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยไปจนถึงไม่มีรายได้จะมีมากขึ้น ขณะที่อัตราการเกิดของไทยติดลบต่อเนื่องมาแล้ว 4 ปี ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องพัฒนาประเทศ เพื่อให้ศักยภาพการเติบโตของไทยโตอย่างโดดเด่น ให้คนรุ่นใหม่มีอนาคตที่สดใส และผู้สูงอายุมีเม็ดเงินในการหล่อเลี้ยงตนเอง

จับตา

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ประเทศไทย มีความภูมิใจว่ามีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน แต่ข้อมูลในปี 67 หลายสำนักประเมินว่า ประเทศสิงคโปร์ จะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน โดยไทยร่วงเป็นอันดับ 3 แทน ซึ่งถ้าเศรษฐกิจไทยเติบในระดับต่ำกว่า 3% ในขณะที่ประเทศอื่นมีเศรษฐกิจโตประมาณ 5% นั้น ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยอาจร่วงลงไปอยู่ลำดับ 5-6 ของอาเซียนได้

ดังนั้น "เศรษฐกิจดิจิทัล" จึงเป็นทางออกที่ไทยควรดำเนินการ และทำให้ไทยเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ อย่างไรก็ดี ไทยมีเศรษฐกิจดิจิทัลประมาณ 13-15% ของ GDP แต่เป็น User ไม่ได้เป็น Producer ดังนั้น การเป็น User อย่างชาญฉลาด จะทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลโดดเด่นขึ้น และอยู่บนกระแสโลกได้ ที่สำคัญ คือ ถ้าไทยสามารถพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลมากขึ้น ก็จะทำให้ไทยโดดเด่นมากขึ้น

จับตา
"สังเกตได้ว่า ขณะนี้หลายประเทศสนใจลงทุนเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีประชากรถึง 50% ที่เข้าใจ ICT และมีประชากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญสำคัญประมาณ 10% ขณะที่ไทยมีประชากรที่เข้าใจ ICT ประมาณ 10% และมีประชากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญสำคัญเพียง 1% เท่านั้น" นายธนวรรธน์ กล่าว

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้าไทย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลสำรวจจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และคณะเศรษฐศาสตร์ เรื่อง "แนวโน้มการลงทุน การค้าระหว่างประเทศ และพลวัตของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และพลวัตเศรษฐกิจดิจิทัล ในทัศนะของ SMEs ไทย" ดังนี้

1. แนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค พบว่า ผู้ประกอบการ SMEs คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 68 มีแนวโน้มแย่ลง ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางส่วนใหญ่คาดว่าเหมือนเดิม ส่วนผู้ประกอบการภาคเกษตรกรรม การผลิต การค้าภายในประเทศ ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 68 มีแนวโน้มแย่ลง แต่ธุรกิจภาคการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ คาดว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้น โดยผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจ มองว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และเสถียรภาพทางการเมืองเป็น 3 ปัจจัยหลัก ที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในปี 68

2. แนวโน้มเทคโนโลยีและนวัตกรรม พบว่า ผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจ มองว่า เทคโนโลยีทางการเงิน เป็นเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในปี 68 เป็นอันดับ 1 โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ยังไม่มีแผนการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในปี 68 แต่ผู้ประกอบการบางส่วน มีแนวโน้มการลงทุนในอนาคต ทั้งนี้ ผู้ประกอบการภาคการค้าระหว่างประเทศ และภาคการท่องเที่ยว มีโอกาสลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอนาคตมากกว่าธุรกิจอื่น ๆ

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการรายย่อย 50% ตัดสินใจยังไม่ลงทุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ เนื่องจากขาดเงินทุน และไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดอื่น ๆ ตอบว่ายังไม่มีการวางแผนในการเปลี่ยนแปลงการใช้เทคโนโลยีมากเป็นอันดับ 1

3. แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และกฎหมาย พบว่า ผู้ประกอบการทุกประเภทธุรกิจ คิดว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองส่งผลกระทบทางลบต่อภาคธุรกิจ ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และการเปลี่ยนแปลงแกนนำรัฐบาลภายใต้รัฐบาลผสมชุดเดิม เป็นปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ผู้ประกอบการมองว่า มีโอกาสส่งผลกระทบต่อการลงทุนในปี 68

4. แนวโน้มการลงทุนเทคโนโลยีดิจิทัล พบว่า ผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจ ยังไม่มีแผนการลงทุนเทคโนโลยีดิจิทัลในปี 68 โดยผู้ประกอบการภาคการผลิต และการค้าระหว่างประเทศส่วนใหญ่ คาดหวังประโยชน์จากการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับปานกลาง ขณะที่ภาคธุรกิจอื่น ๆ คาดหวังน้อย

"ในภาพรวมพบว่า SMEs ไทยยังขาดความเตรียมพร้อมเรื่องเทคโนโลยี และยังมีความวิตกกังวลในหลายเรื่อง ทั้งอัตราดอกเบี้ย การเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมือง" นายอนุสรณ์ กล่าว

นายอนุสรณ์ กล่าวเสวนาในหัวข้อ "พลวัตเศรษฐกิจดิจิทัล : ความเสี่ยง และโอกาสทางธุรกิจ ตลาดแรงงาน ความสามารถในการแข่งขันและความเป็นธรรม" ว่า แนวโน้มพลวัตเศรษฐกิจดิจิทัล ปี 68 พบว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของโลก จะเติบโตเป็น 3 เท่าของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลโลก จะแตะระดับ 24 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 68 คิดเป็น 21% ของ GDP โลก โดยเศรษฐกิจดิจิทัลจะก่อให้เกิดผลบวกทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมมากมาย พร้อมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะผลที่มีต่อตลาดแรงงาน

ทั้งนี้ โลกจะเชื่อมโยงมากยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยี 5G และระบบดาวเทียม ซึ่งจะสร้างโอกาสอย่างมาก ขณะเดียวกัน ก็มีความท้าทายของความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี ขณะที่สงครามการค้าโลกรอบใหม่ อาจทำให้ความเป็นหนึ่งเดียวของโลกาภิวัตน์ของเศรษฐกิจดิจิทัลสั่นคลอน โดย AI จะทำให้ประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีขึ้น แต่ AI ก็ต้องบริโภคพลังงานมหาศาล อย่างไรก็ตาม ระบบความร่วมมือทางด้านข้อมูลที่เข้มแข็ง จะทำให้เกิด Digital Innovation

สำหรับแนวโน้มพลวัตเศรษฐกิจดิจิทัลในปี 68 ที่ต้องจับตา ได้แก่ 1. Sustainable Intelligent Ecosystems ระบบนิเวศอัจฉริยะแบบยั่งยืน 2. Security and Trust ความมั่นคงปลอดภัยของระบบและความน่าเชื่อถือ และ 3. Empowered Communities อำนาจและความเข้มแข็งของชุมชน

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงหลายเรื่องทั้ง Data Privacy ความเสี่ยงจากการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวเพิ่มขึ้น, Ethical Issues ความเสี่ยงทางด้านจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์, AI Governance การกำกับควบคุม ระบบกฎหมายที่เหมาะสมมีความสำคัญเพิ่มขึ้น และ Cybersecurity ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

"การไม่เตรียมพร้อมของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ภาครัฐบาล ภาควิชาการ และภาคแรงงาน จะทำให้ประเทศไทยโดยรวม สูญเสียโอกาสและตกขบวนของการพัฒนาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากติดกับดักรายได้ระดับปานกลางมาหลายทศวรรษ สิ่งที่น่าห่วง คือ SMEs ภาควิชาการ และภาคแรงงาน ที่ทำให้เกิดปัญหาสะสม ทั้งในมิติความสามารถในการแข่งขัน และความเป็นธรรม ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งไทย อย่างไรก็ตาม เกิดการขึ้นของ AI ราคาถูกจากจีน ช่วยลดปัญหาการผูกขาดในธุรกิจอุตสาหกรรม AI ได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่หมดไป" นายอนุสรณ์ กล่าว

ด้าน นายเผด็จ แย้มกลีบ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ. บัวหลวง กล่าวว่า ในปัจจุบัน ได้เกิดโลกยุคใหม่ที่เรียกว่า "BANI World" ส่งผลทำให้ธุรกิจ และทุกคนต้องปรับตัว ดังนี้

  • B จาก Brittle: โลกที่เปราะบาง ไม่ยั่งยืน และถูก Disrupt ได้โดยง่าย ไม่เว้นแม้แต่ความสำเร็จทางธุรกิจ ดังนั้น องค์กรจึงควรที่จะเสริมความเปราะบางนี้ โดยการเพิ่มทักษะใหม่ ๆ เช่น Soft Skill, Hard Skill และ Digital Skill เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง
  • A จาก Anxious: โลกที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวล ไม่เพียงแต่เฉพาะชีวิตส่วนตัว แต่ในการทำงานก็เช่นกัน ส่งผลต่อสุขภาพจิต เกิดความเครียด รู้สึก Burn Out มากขึ้น ดังนั้น องค์กรจึงควรสร้าง Mind set ให้ทุกคนในองค์กรมีสติ เพื่อพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
  • N จาก Nonlinear: โลกที่ความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นเส้นตรง หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นแบบไม่มีใครคาดคิด ทำให้คนขาดตรรกะ ไม่เป็นเหตุเป็นผล ดังนั้น องค์กรควรปฏิรูปรูปแบบการ ทำงานใหม่ให้มีความยืดหยุ่น ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เพื่อพัฒนาทีมงานให้ทันโลกเสมอ
  • I จาก Incomprehensible: โลกที่ซับซ้อนและเข้าใจยาก ข้อมูลข่าวสารไม่ว่าจะจริงหรือเท็จ ล้วนมีปริมาณมากและซับซ้อน ทำให้การวิเคราะห์ หรือสรุปเป็นไปได้ยาก ดังนั้น องค์กรจำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาช่วยในการทำงาน เช่น การใช้เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ Big Data เพื่อค้นหาคำตอบสำหรับปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ