สภาพัฒน์ คงคาด GDP ไทยปี 68 โต 2.3-3.3% จับตาปัจจัยเสี่ยงสหรัฐ-หนี้ครัวเรือน-ภาคเกษตร

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 17, 2025 10:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาพัฒน์ คงคาด GDP ไทยปี 68 โต 2.3-3.3% จับตาปัจจัยเสี่ยงสหรัฐ-หนี้ครัวเรือน-ภาคเกษตร

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 68 โต 2.3-3.3% โดยมีค่ากลางที่ 2.8% ซึ่งอัตราดังกล่าวรวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว และความเสี่ยงจากนโยบายการค้าโลก จากปี 67 GDP ขยายตัว 2.5% จากเดิมคาด 2.6% แต่เร่งขึ้นจาก 2.0% ในปี 66

สำหรับปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยปี 68 ได้แก่

  • การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน
  • การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชนและการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน
  • การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง
สภาพัฒน์ คงคาด GDP ไทยปี 68 โต 2.3-3.3% จับตาปัจจัยเสี่ยงสหรัฐ-หนี้ครัวเรือน-ภาคเกษตร

-การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า

ขณะที่ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ อาทิ

  • ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก เช่น นโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
  • ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง
  • ความผันผวนภาคเกษตรจากสภาพอากาศที่ส่งผลต่อราคาผลผลิต

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวถึงแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้เพื่อให้ขยายตัวได้ถึง 3% นั้นคงต้องดูองค์ประกอบอื่น ๆ ว่าจะทำให้เติบโตได้ขนาดไหน โดยมาตรการที่จะออกมาต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสม และงบประมาณที่มีอยู่ โดยรัฐบาลมีงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการได้จำนวน 1.57 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนตัวคิดว่าภาครัฐควรจัดทำแพ็กเกจในการลงทุน เช่น การบริหารจัดการแหล่งน้ำทั่วประเทศเพื่อเสริมความมั่นคงในเรื่องปัจจัยการผลิตและการป้องกันภัยพิบัติ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการในรูปแบบใดบ้าง

สำหรับแนวทางการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2568 ควรให้ความสำคัญใน 5 ประเด็น คือ

1.การเตรียมการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของประเทศคู่ค้า

  • เจรจาการค้ากับสหรัฐฯ และเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการกีดกันทางการค้า
  • ปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าให้มีความเข้มงวดรัดกุมมากขึ้น การยกระดับมาตรการกำกับดูแลผู้ประกอบการออนไลน์จากต่างประเทศ และการติดตามเร่งรัดกระบวนการไต่สวนการใช้มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด การอุดหนุน และมาตรการปกป้องจากการนำเข้า (AD/CVD/AC) รวมทั้งการดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย หรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายต่าง ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจ
  • เร่งรัดส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ไทยมีศักยภาพและคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ ๆ
  • ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก

2.การเร่งรัดส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนให้กลับมาขยายตัว

  • เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบของกิจการร่วมค้า (Joint venture) เพื่อสร้างโอกาสในการส่งเสริมการสร้างธุรกิจเกี่ยวเนื่องของไทยในช่วงของการย้ายฐานการลงทุนของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตขยายการผลิตในประเทศไทย
  • เร่งรัดนักลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2565-2567 ให้เกิดการลงทุนจริงโดยเร็ว เพื่อช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่มีศักยภาพ
  • การพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะการปรับลดอุปสรรคด้านขั้นตอนกระบวนการ และข้อบังคับ/กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต และการพัฒนาผลิตภาพแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมและภาคบริการเป้าหมาย
  • การเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าไทยที่มีศักยภาพและมีมูลค่าสูงขึ้นที่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาและมีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในประเทศให้มีความพร้อมและสามารถเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตโลกมากขึ้น

3.เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนไม่ให้ต่ำกว่า 75% ของกรอบงบลงทุนรวม โดยมุ่งเน้นการลงทุนในโครงการที่สำคัญ ทั้งโครงการลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ รวมทั้งโครงการลงทุนด้านการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อวางรากฐานปัจจัยการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ให้กระจายไปสู่ชุมชน

4.การสร้างการตระหนักรู้ถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เพื่อให้ลูกหนี้โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ SMEs ได้รับความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้และสามารถชำระหนี้ได้อย่างเหมาะสมตามศักยภาพ

5.การขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการเร่งรัดแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (PM2.5) อย่างจริงจังเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการรักษามาตรฐานความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว รวมถึงการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิ สนามบิน/เที่ยวบิน กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งการบริหารจัดการพื้นที่และสิ่งแวดล้อม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ