
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ สั่งการให้กรมการค้าภายใน เร่งจัดประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ซึ่งตนเองเป็นประธาน และมีหน่วยงานภาครัฐของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพาณิชย์ รวมทั้งภาคเอกชน เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาข้าวนาปรังที่ได้รับผลกระทบด้านราคาข้าวขาวในตลาดโลกในวันที่ 20 ก.พ. นี้ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งมีนายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธาน
นายพิชัย ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ เร่งดำเนินการออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ที่ในช่วงนี้ได้รับผลกระทบทางด้านราคา ด้วยเหตุจากสถานการณ์ที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าว ประกอบกับการที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ลดการนำเข้าข้าวด้วย ซึ่งทำให้ข้าวไทยได้รับผลกระทบ

"กระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือ โดยสั่งการให้กรมการค้าภายใน ในฐานะฝ่ายเลขาฯ คณะอนุกรรมการข้าวด้านการตลาด เร่งจัดประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติด้านการตลาด เพื่อเสนอมาตรการช่วยเหลือพี่น้องชาวนา ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนบข. พิจารณาเพื่อให้ได้ข้อสรุปให้พี่น้องเกษตรกรโดยเร็วที่สุด" นายพิชัย ระบุ
ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน ดำเนินการคู่ขนานทันทีในการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกปีการผลิต 2567/68 ตั้งแต่ ก.พ.-เม.ย. 68 โดยมีแผนที่จะจัดตลาดนัดข้าวเปลือกอีก 14 ครั้ง เพื่อดึงราคาข้าวเปลือกให้สูงขึ้น ในพื้นที่ เป้าหมาย 8 จังหวัด คือ อ่างทอง สุรินทร์ สิงห์บุรี พิษณุโลก สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา อุบลราชธานี และนครราชสีมา
ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายว่า โครงการตลาดนัดข้าวเปลือกจะช่วยดันราคาขายข้าวของเกษตรกรให้ปรับเพิ่มขึ้นได้ 100-200 บาท/ตัน โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะได้จัดตลาดนัดครั้งที่ 1 ในวันที่ 16-20 ก.พ. 68 ซึ่งการจัดตลาดนัดข้าวเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการแข่งขัน ช่วยให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น เป็นการเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร และสร้างอำนาจต่อรองในการกระจายข้าวเปลือกมากขึ้น
นายพิชัย กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน และสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เร่งดำเนินการในพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งข้าวนาปรังทยอยออกสู่ตลาด และจะได้ประสานชาวนาในแต่ละพื้นที่ เพื่อร่วมกันวางแผนกำหนดจุดจัดตลาดนัดข้าวเปลือกให้ตรงกับปริมาณผลผลิตที่ออก และช่วงเวลา ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
ด้าน นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ระบุว่า สมาคมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องถึงความเดือดร้อน และแนวทางแก้ไขเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้ผลักดันให้มีการเสนอมาตรการผ่านทางคณะกรรมการแล้ว โดยวันนี้สมาคมฯ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล รมว.พาณิชย์ และรมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้มีการเร่งหาวิธีแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน สำหรับเรื่องปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่เกิดจากการเผา ที่ภาครัฐมีมาตรการเข้มงวด ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการบริหารจัดการแปลงนาเพิ่มขึ้นไร่ละประมาณ 500 บาท ก็ได้เสนอให้ภาครัฐได้ช่วยเหลือในคราวเดียวกัน
ส่วนราคาข้าวเปลือกเจ้า ณ วันที่ 14 ก.พ. 68 อยู่ที่ 8,300-9,000 บาท/ตัน (เฉลี่ยอยู่ที่ 8,650 บาท/ตัน ปรับลดลงเทียบกับ ปีก่อนที่ 12,500 บาท/ตัน หรือลดลง 30%) ราคาปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนก.ย. 67 เป็นต้นมา เนื่องจากอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวตามปกติ รวมทั้งอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มนำเข้าลดลงจากการเก็บสต๊อกที่เพียงพอแล้ว ทำให้ความต้องการนำเข้าข้าวขาวจากไทยชะลอตัว จึงได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับราคาในปี 65 ช่วงก่อนที่อินเดียจะงดการส่งออกข้าว
ในส่วนของสถานการณ์ราคาปัจจุบัน (14 ก.พ.) ของข้าวชนิดอื่น ๆ ยังคงทรงตัว แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ เฉลี่ย 16,000 บาท/ตัน ปรับเพิ่มขึ้นจาก 14,850 บาท/ตัน (เพิ่มขึ้น 8%) ข้าวเปลือกเหนียว เฉลี่ย 13,250 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก 13,300 บาท/ตัน (ลดลง 0.4%) ข้าวเปลือกปทุมธานี เฉลี่ย 12,100 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก 14,400 บาท/ตัน (ลดลง 16%) และข้าวเปลือกเจ้า เฉลี่ย 8,700 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก 12,500 บาท/ตัน (ลดลง 30%)