ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 33.69 แกว่งแคบจากช่วงเช้า ตลาดติดตามถ้อยแถลงจนท.เฟด คาดกรอบพรุ่งนี้ 33.60-33.80

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 18, 2025 17:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ 33.69 บาท/ดอลลาร์ จากเปิดตลาดเมื่อ เช้าอยู่ที่ระดับ 33.71 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวตามสถานการณ์ราคาทองในตลาดโลก ขณะที่ค่าเงินในภูมิภาคปรับตัวอ่อนค่าหลังดอลลาร์ แข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.66 - 33.82 บาท/ดอลลาร์

ช่วงนี้ตลาดติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และสถานการณ์ราคาทองในตลาดโลก

"บาทเคลื่อนไหวไปตามราคาทองในตลาดโลก ช่วงเช้ายังเคลื่อนไหวใปตามภูมิภาคก่อนที่จะกลับมาแข็งค่าในช้วงท้ายตลาด"
นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 33.60 - 33.80 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยน อยู่ที่ระดับ 151.87 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 151.57 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0458 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0480 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,257.48 จุด เพิ่มขึ้น 1.00 จุด (+0.08%) มูลค่าซื้อขาย 47,364.04 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 1.49 ล้านบาท
  • รมช.คลัง กล่าวถึงตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 68 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่คาดว่าจะโตได้ 2.3-3.3% ค่ากลางที่ 2.8% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขของกระทรวงการคลัง ว่า ปีนี้กระทรวงการคลัง
มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3% และพยายามทำให้ถึง 3.5% โดยในปี 68 รัฐบาลยังมีการขับเคลื่อนนโยบายอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะ
เป็นการกระตุ้นผ่านโครงการเงิน 10,000 บาทในเฟสถัดไป รวมไปถึงโครงการ Easy E-Receipt ที่เป็นตัวขับเคลื่อนการกระตุ้น
เศรษฐกิจทั้งสิ้น
  • Krungthai COMPASS ประเมินว่า ความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น อาจฉุดให้เศรษฐกิจไทย
ขยายตัวได้ต่ำกว่า 2.8% หลังสหรัฐฯ เริ่มดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าที่ขยายวงมากขึ้น อาจกระทบโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยในช่วง
ครึ่งปีแรก ให้ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม นอกจากนี้ ไทยยังเผชิญกับการแข่งขันที่สูงจากจีน ทั้งในตลาดส่งออก และในประเทศ
และปัญหาการส่งออกที่ขยายตัวไม่ส่งผ่านผลดีไปสู่ภาคการผลิต
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทยปี 2568 มีแนวโน้มชะลอลงเล็กน้อย อยู่ที่
2.4% โดยคาดว่าการส่งออกในปีนี้ จะเติบโตชะลอลง แม้จะได้รับแรงสนับสนุนบางส่วนจากการเร่งนำเข้าสินค้า ก่อนการปรับขึ้นภาษีนำ
เข้าของสหรัฐฯ ประกอบกับวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แต่ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกสหรัฐฯ จัดเก็บภาษีในลำดับถัดไป เนื่องจาก
ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับสูง และมีการเก็บภาษีนำเข้าเฉลี่ยสูงกว่าสหรัฐฯ ซึ่งการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ มีแนวโน้มส่ง
ผลให้การส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลง ขณะที่การส่งออกไทยยังไปยังตลาดโลก มีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นและอุปสงค์ที่ลดลง
  • วิจัยกรุงศรี เตรียมปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทยปี 2568 ลงจาก 2.9% เนื่องจาก 1. อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ ทั้ง
การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน 2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งผลบวกค่อนข้างจำกัด (เฟส 2 วงเงินเพียง 30,000 ล้านบาท
และเหลือวงเงินอีก 1.57 แสนล้านบาท สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในปีนี้) 3. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาจไม่เป็นไปตามที่เคย
คาดไว้ที่ 40 ล้านคน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวช้า และ 4. หากสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้า อาจกระทบต่อการค้าและการส่งออกของ
ไทย
  • สำนักวิจัยซีไอเอ็มบีไทย ระบุว่า จากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ในไตรมาส 4/2567 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ยังคงบ่งชี้
ว่า นโยบายการเงินของไทยยังค่อนข้างตึงตัวพอสมควร ซึ่งปัจจัยดังกล่าว น่าจะสนับสนุนให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับ
ลดอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าได้ ทั้งนี้ อาจต้องรอดูพัฒนาการเศรษฐกิจไทย และอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไป โดยเฉพาะในช่วงเดือน
พ.ค. (19 พ.ค.) ที่จะมีการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาสแรกอีกรอบ โดยเชื่อว่า ทิศทางของเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ แต่เป็นไป
อย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • ภาพรวมสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2567 หดตัว 0.4% ถือเป็นการติดลบสูงสุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 และ
เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากปี 2566 ที่สินเชื่อหดตัว 0.3%
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธปท.ได้หารือถึงปัญหาและร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง
ๆ ในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการเรียกร้อง คือ การขอผ่อนคลายมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) สำหรับการ
ซื้อบ้าน สัญญาที่ 2-3 โดยจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโบบายสถาบันการเงิน (กนส.) ต่อไป ส่วนจะมีความชัดเจนในไตรมาส
2 หรือครึ่งปีแรกนี้หรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้
  • ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) แถลงข่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินในวันนี้ (18 ก.พ.) โดย
ส่งสัญญาณถึงการใช้ความระมัดระวังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไป หลังจากที่ RBA ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่
ระดับ 4.10% ในวันนี้ ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี และสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด
  • ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติประจำทำเนียบขาวของสหรัฐฯ มีแผนจะพบปะกับเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคาร
กลางสหรัฐฯ (เฟด) อย่างต่อเนื่อง เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเศรษฐกิจ และเปิดช่องให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ส่งความเห็นถึงเฟด
โดยตรง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ