"พิชัย" หวัง ธปท.หั่นดอกเบี้ยช่วยกระตุกเศรษฐกิจ จ่อหารือแบงก์ลดขั้นตอนแก้หนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 24, 2025 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวถึงคณะกรรมการบริหารของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แนะนำธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ยว่า การลดหรือไม่ลดอัตราดอกเบี้ย ในทุกประเทศจะกลัวเรื่องเงินเฟ้อ กลัวความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ แต่เงินเฟ้อของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาอย่างต่อเนื่อง หากอัตราดอกเบี้ยลงแล้วเพิ่มความร้อนแรงทางเศรษฐกิจขึ้นบ้าง ก็ถือเป็นจังหวะที่ดีกว่าปีที่แล้ว เพราะหลายอย่างเริ่มไปในทิศทางที่ดีขึ้น

"ทั้งผู้ใช้เงิน ผู้กู้เงิน คนลงทุน ผมว่าทุกคนอยากเห็น 2 เรื่อง คือ เรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่กำลังเฝ้าดูอยู่ และดอกเบี้ยจริงๆ ในกลุ่มเอสเอ็มอี เพราะตอนนี้ผมคิดว่าตอนนี้หลายเรื่องเริ่มกระเตื้องขึ้นแล้ว ดังนั้นต้องกลับมาดูเรื่องเหล่านี้"นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวต่อว่า ถ้าหากลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดต้องทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเรื่องนี้ต้องนำมาพิจารณาด้วย เพราะในมุมมองของคนกู้ เมื่อก่อนอาจมีความเข้มงวด แต่ตอนนี้จะพอสามารถยืดหยุ่นได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) เรื่องนี้ก็พยายามพูดมาตลอด ซึ่งส่วนตัวมองว่า ธปท.คงเข้าใจข้อมูลพวกนี้แล้วจะนำเข้าไปสู่การพิจารณาทั้งหมด

ขณะเดียวกันยังมีอีกเรื่องสำคัญ คือ เวลาเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกก็จะมีการพูดคุยกันเรื่องค่าของเงิน อย่างล่าสุด เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ซึ่งญุ่ปุ่นมีค่าเงินแข็งเป็นเวลานานแล้วก็อ่อนค่าลง ซึ่งทางการญี่ปุ่นบอกว่าค่าเงินอ่อนมีปัญหาเวลานำเข้า แต่ในฐานะที่เป็นประเทศส่งออกก็มองเห็นว่าประเทศเริ่มฟื้นขึ้น ดังนั้น หมายความว่า ญี่ปุ่นให้ความสำคัญเรื่องค่าเงิน

ขณะที่ประเทศไทยก็ถือเป็นประเทศผู้ส่งออกเช่นกัน ดังนั้นค่าเงินจะอ่อนแค่ไหนก็ต้องดูเทียบกับประเทศคู่แข่ง อย่าไปดูแค่ 2-3 ปี ต้องดูย้อนหลังไปยาวๆ ซึ่งเห็นได้เลยว่าค่าเงินบาทยังแข็งอยู่ แต่ประเทศที่ค่าเงินอ่อนก็มีมาตรการทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ จึงเป็นเรื่องน่าคิด เพราะค่าของเงินเป็นผลลัพธ์ของมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ย หรือมาตรการปล่อยสินเชื่อ โดยจะนำมาซึ่งขีดความสามารถในการแข่งขัน

"หวังว่าตอนนี้เวลามองอะไรจะไม่มองด้านเดียว เวลามองเรื่องเงินก็ต้องมองว่า ใครเป็นเจ้าของเงิน ใครเป็นคนฝากเงิน ใครเป็นคนดูแลเงิน สถานบันการเงิน แล้วใครเป็นผู้ใช้เงิน ดังนั้นทำอย่างไรให้สมดุลและหมุนเวียนเหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งจำเป็นต้องดูให้หมด อย่าดูแค่อันใดอันหนึ่งไม่ได้ ซึ่งส่วนตัวเข้าใจว่าข้อมูลธปท.น่าจะมีหมดแล้ว เพราะได้มีการพูดคุยกันและมีการบอกไปแล้ว แม้ว่าเรื่องแก้หนี้ก็ต้องเข้าใจว่า เวลาเป็นหนี้จำนวนมาก หลายล้านบัญชีการแก้ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ดังนั้นบางคนยังไม่รู้ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีอื่นๆ"

ทั้งนี้ นายพิชัย กล่าวว่า หลังจากนี้ทางกระทรวงการคลังและธนาคารจะหารือกันเพื่อปรับปรุงมาตรการแก้หนี้ให้ทำได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะต้องแก้ไขขั้นตอนต่าง ๆ ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ และสื่อสารให้ลูกหนี้เข้าใจถึงประโยชน์ของการแก้หนี้

"ต้องอธิบายมากขึ้น ติดต่อมากขึ้น ทำความเข้าใจมากขึ้น บางอย่างลดเลยได้หรือไม่ เปลี่ยนวิธีขั้นตอน เพราะการปรับโครงสร้างหนี้ยังเป็นเป้าหมายสำคัญ เพราะถ้าปรับได้ก็จะทำให้เรื่องการปล่อยเงินเข้าระบบก็จะสมเหตุสมผลมากขึ้น"นายพิชัย กล่าว

ส่วนข้อกังวลของนักวิชาการเรื่องเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย ซึ่งนักวิชาการเกรงว่าเมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้นราคาสินค้าจะไม่ลง หากคุมเงินเฟ้อได้ไม่ดี ในอนาคตคนรายได้น้อยจะลำบาก นายพิชัย มองว่า การคุมเงินเฟ้อที่ดีก็คือการคุมให้พอดี เพราะต้องเข้าใจว่า เงินเฟ้อมีผลกระทบหลายด้าน หนึ่งกระทบผู้บริโภค อีกด้านหนึ่งกระทบกับผู้ผลิต ดังนั้นต้องมองหลายด้าน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ