(เพิ่มเติม) พาณิชย์เผย เม.ย.51 ส่งออกโต 27% นำเข้าโต 44.4% ขาดดุล 1.8 พันล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 21, 2008 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนเม.ย.51 โต 27% คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 13,765 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าโต 44.4% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 15,572 ล้านดอลลาร์  ส่งผลให้ในเดือน เม.ย.51 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 1,807 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการขาดดุลสูงสุดในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่เดือนเม.ย. 39 ที่ขาดดุล 2,070 ล้านดอลลาร์ 
สำหรับการส่งออก ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 51 (ม.ค.-เม.ย.) ส่งออกโต 22.2% คิดเป็นมูลค่า 55,481 ล้านดอลลาร์ การนำเข้าโต 39.7% คิดเป็นมูลค่า 58,471 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ไทยขาดดุลการค้ารวม 2,990 ล้านดอลลาร์
นายศิริพล กล่าวว่าการขาดดุลการค้าในเดือนเม.ย. เป็นผลมาจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น อย่างเห็นได้ชัด โดยการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และทองคำ
ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายการส่งออกปี 51 ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 12.5%
โดยในเดือน เม.ย.51 มีการนำเข้าสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงคิดเป็นมูลค่า 3,657 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 88% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่นำเข้าเพียง 1,944 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าทองคำมีมูลค่า 536 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 615% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่นำเข้าเพียง 75 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ จากภาวการณ์นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและทองคำที่มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างมากนี้ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ จะเรียกประชุมคณะกรรมการจัดการด้านอาหารและพลังงาน เพื่อหาแนวทางในการบริหารการนำเข้าในภาพรวมต่อไป
"การนำข้าผูกพันกับนโยบายของหลายส่วน เราจะไปคุยกับส่วนราชการอื่นให้เกิดความชัดเจน...ส่วนเรื่องทองคำ เป็นผลจากการขยายตัวของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ แต่อีกส่วนหนึ่งนั้นจะต้องดูว่ามีการเก็งกำไรจากการนำเข้าหรือไม่ เรื่องนี้ละเอียดอ่อน กระทรวงพาณิชย์จะต้องคุยกับส่วนราชการ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง" นายศิริพล กล่าว
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังคงยืนยันตัวเลขการส่งออกทั้งปี 51 จะขยายตัวได้ที่ระดับ 12.5% แม้กระทรวงพาณิชย์จะคาดหมายในเบื้องต้นว่า การส่งออกจะสามารถขยายตัวได้สูงถึง 15%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ