
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงรัฐสภายุโรปมีมติประณามไทยกรณีส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับจีน และเรียกร้องให้ไทยแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน การลี้ภัย สิทธิมนุษยชน รวมถึงเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปใช้การเจรจาจัดทำความตกลงการค้า (FTA) ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป (EU) กดดันให้ไทยปฏิรูปกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะจากการประชุมทางไกลกับนายมารอส เซฟโควิช กรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร และความโปร่งใส เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ทั้ง 2 ฝ่ายแสดงจุดยืนร่วมกันที่จะเร่งการเจรจาให้จบโดยเร็ว เพื่อขยายโอกาสทางการค้า การลงทุน รวมถึงลดอุปสรรค และอำนวยความสะดวกทางการค้า เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการของ 2 ฝ่ายให้มากขึ้น
"การพูดคุยบรรยากาศดีมาก เพราะ 2 ฝ่ายแสดงจุดยืนร่วมกันที่จะเร่งรัดการเจรจาให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งผมได้แจ้งไปว่านายกรัฐมนตรีของไทยต้องการให้จบภายในปีนี้ และไม่ได้พูดถึงเรื่องการส่งกลับอุยกูร์ หรือเอาประเด็นการเมือง หรือปัญหาอื่น ๆ มากดดันเราเลย และไม่น่าจะทำให้การเจรจาหยุดชะงัก หรือยกเลิกการเจรจา ซึ่งฝ่ายอียูก็พุดเองว่าจะให้จบภายในวันที่ 25 ธ.ค.นี้" นายพิชัย กล่าว
ซึ่งขณะนี้ การเจรจา FTA ไทย-EU ดำเนินไปแล้ว 4 รอบ โดยสามารถสรุปผลการเจรจาได้ 2 บท และเริ่มหารือเรื่องการเปิดตลาดสินค้าและบริการแล้ว สำหรับการเจรจารอบที่ 5 ฝ่าย EU จะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 31 มี.ค. - 4 เม.ย.68 โดยไทยกับอียู จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถบรรลุผลการเจรจา FTA ภายในวันที่ 25 ธ.ค. 68
อย่างไรก็ตาม ผลการเจรจาจะออกมาอย่างไรขึ้นอยู่กับการต่อรอง หาก EU เสนออะไรที่ไทยทำไม่ได้ก็จะไม่รับ โดยคณะเจรจาฝ่ายไทย ย่อมเจรจาโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนไทยอยู่แล้ว
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า FTA เป็นสิ่งสำคัญ ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ไทยและ EU มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจส่งผลต่อข้อกำหนดในข้อตกลง แต่ความยืดหยุ่นและความช่วยเหลือทางวิชาการจาก EU จะมีส่วนช่วยให้การเจรจาประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น
"การเร่งสรุป FTA ไทย-EU ไม่ใช่แค่การเพิ่มมูลค่าการค้า แต่เป็นก้าวสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทย โดยไทยจะใช้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้เพื่อขยายตลาด ลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ และดึงดูดนักลงทุนจากยุโรปให้มากขึ้น โดย FTA ฉบับนี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และช่วยให้ไทยปรับตัวได้ดีขึ้นต่อการแข่งขันในเวทีโลก" นายพิชัย กล่าว
ด้าน น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้การเจรจา FTA ไทย-EU ยังเดินหน้าต่อไป โดยจะเจรจารอบที่ 5 ที่อียูเป็นเจ้าภาพวันที่ 31 มี.ค.-4 เม.ย.นี้ น่าจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับ EU ในประเด็นนี้ด้วย แต่การที่รัฐสภายุโรปมีมติแบบนั้นก็เป็นเรื่องที่ทางฝ่ายนั้นจะต้องทำตามขั้นตอนของสภายุโรป ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าจะมีปัญหา หรือทำให้การเจรจาล่าช้าออกไป
อย่างไรก็ตามประเมินว่า การเจรจาไม่น่าจะชะลอออกไป น่าจะเจรจาต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เพราะประเด็นที่รัฐสภายุโรปมีมติออกมาเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง ความมั่นคง มากกว่าด้านเศรษฐกิจ
"เรายังคงตั้งเป้าเจรจาให้เสร็จโดยเร็ว สำหรับประเด็นต่าง ๆ กระทรวงพาณิชย์ จะประสานใกล้ชิดกับกระทรวงการต่างประเทศ ขณะนี้คงต้องติดตามความเคลื่อนไหวต่อไป" น.ส.โชติมา กล่าว
อนึ่ง EU เป็น คู่ค้าลำดับที่ 4 ของไทย (รองจากจีน, สหรัฐฯ และญี่ปุ่น) โดยมีมูลค่าการค้ารวม 43,533 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.54 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็น 7.17% ของการค้ารวมของไทยกับโลก ไทยส่งออกไป EU มูลค่า 24,205 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 850,000 ล้านบาท) สินค้าส่งออกสำคัญอาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบอัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และชิ้นส่วน ขณะที่ไทยนำเข้าจาก EU มูลค่า 19,328 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 687,000 ล้านบาท) สินค้านำเข้าสำคัญ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องบินและอุปกรณ์การบิน เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรไฟฟ้า