น.ส.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย (ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยผลการวิจัยนโยบายธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)ในรอบ 8 ปี พบว่า ผู้ประกอบการจำนวนมากไม่ทราบถึงมาตรการและสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่รัฐให้การสนับสนุน
"หากผู้ประกอบการเข้ามาใช้สิทธิได้จริงจะสามารถส่งเสริมธุรกิจ SMEs ได้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ที่ภาครัฐให้การส่งเสริม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการจากกรมสรรพากร กรมศุลกากร และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)"น.ส.เดือนเด่น กล่าว
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ SMEs ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด คือ มาตรการของกรมสรรพากรที่มีผู้เข้ามารับสิทธิถึง 98% เนื่องจากมีการประชาสัมพันธ์ที่ดี เข้าถึงง่ายและชัดเจน เช่น เงื่อนไขที่หาก SMEs ใดมีรายได้ต่ำกว่ากำไร 1 ล้านบาทต่อปี สามารถชำระภาษีเงินได้เพียง 15-20% หรือถ้ากำไรต่ำกว่า 3 ล้านบาท ชำระภาษี 25%
น.ส.เดือนเด่น กล่าวว่า อุปสรรคในมาตรการการคืนภาษีทางศุลกากรให้กับ SMEs พบว่าแตกต่างจากบริษัทขนาดใหญ่ที่นำใบเสร็จนำเข้ามาขอคืนภาษีหลังจากส่งออก แต่ SMEs จะได้เมื่อดำเนินการในลักษณะเหมาจ่ายหรือนำสูตรการผลิตมาทำเรื่องการขอคืนภาษี โดยเป็นการคืนภาษีตามสัดส่วนการผลิต แต่ปัญหากลับเกิดขึ้นตรงสูตรการผลิตที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ทำให้การอนุมัติคืนภาษีมีความล่าช้า ดังนั้นควรปรับวิธีให้ผู้ประกอบการรับรองตัวเองไปก่อน โดยศุลกากรสามารถเข้ามาตรวจสอบภายหลังได้
ส่วนสิทธิประโยชน์ของบีโอไอที่ให้แก่ SMEs นั้น ผลสำรวจพบว่ามีผู้เข้ามารับสิทธิประโยชน์เพียง 1,000 รายเท่านั้น จากประเทศกว่า 3 แสนราย หรือคิดเป็นเพียง 3.02% ที่เข้ามารับสิทธิประโยชน์ ซึ่งปัญหาเกิดจากผู้ประกอบการจำนวนมากไม่ได้เข้ามาขอรับสิทธิการลงทุน เนื่องจากเห็นว่าอาจมีคุณสมบติไม่ครบถ้วน
--อินโฟเควสท์ โดย รบฦ3/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--