ดัชนี MPI ก.พ. หดตัว 3.91% รับแรงกดดันศก.โลกผันผวน อุตฯ ยานยนต์ยังซึมยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 28, 2025 11:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ.68 อยู่ที่ 96.18 หดตัว 3.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) อยู่ที่ 59.01%

นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลลบต่อภาคการผลิต ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงเผชิญความท้าทายจากตลาดทั้งในและต่างประเทศ และดัชนีอุตสาหกรรมยานยนต์ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้การบริโภคเอกชนยังคงชะลอตัว นอกจากนี้มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่เก็บภาษีเพิ่มขึ้นกับประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไทยที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากการที่สินค้าประเทศจีนทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวยังคงเป็นปัจจัยบวกกับภาคเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับอานิสงส์ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่ภาวะการค้าระหว่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง มีมูลค่าส่งออกรวมเพิ่มขึ้น 14% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 17.2% และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัว 17.1% โดยสินค้าส่งออกหลักที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ สะท้อนให้เห็นว่าสินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก

*อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบ ได้แก่
  • ยานยนต์ ลดลง 12.71% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งไฮบริดขนาดต่ำกว่า 1,800 ซีซี รถยนต์นั่งขนาดเล็กและใหญ่ เป็นหลัก เนื่องจากการชะลอตัวของตลาดในประเทศจากภาวะเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือนสูง และสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ สำหรับตลาดส่งออกหดตัวตามความต้องการของประเทศคู่ค้า และมีการแข่งขันด้านราคาในตลาดสูง
  • ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ลดลง 7.88% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันก๊าด เป็นหลัก เนื่องจากผู้ผลิตบางรายหยุดผลิตเพื่อซ่อมบำรุง
  • น้ำมันปาล์ม ลดลง 28.58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เป็นหลัก ตามปริมาณผลปาล์มที่เข้าสู่โรงงานลดลงจากปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ผลปาล์ม ยังคงมีราคาสูง
*อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวก ได้แก่
  • น้ำตาล ขยายตัว 4.70%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์และน้ำตาลทรายดิบ เป็นหลัก ตามปริมาณอ้อยเข้าหีบที่มากกว่าปีก่อน เนื่องจากมีน้ำมากพอในพื้นที่เพาะปลูก และราคาอ้อย จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น
  • ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ขยายตัว 5.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ยางแท่ง ยางผสม และยางแผ่น เป็นหลัก เนื่องจากผู้ผลิตหลายรายผลิตสินค้าที่ผ่านการรับรอง EUDR เพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากจีน สหรัฐฯ และยุโรป
  • สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ขยายตัว 20.75% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋อง เป็นหลัก เนื่องจากการเร่งผลิตเพื่อสต๊อกสินค้าหลังราคาปลาทูน่าปรับตัวลดลง
*คาดภาพรวมเดือนมี.ค.มีแนวโน้มฟื้นตัว

ขณะที่ระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือน มี.ค.68 ส่งสัญญาณปกติเบื้องต้นและมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในระยะ 4-6 เดือนข้างหน้า โดยปัจจัยภายในประเทศอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังตามความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและความเชื่อมั่นทางธุรกิจมีระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ด้านปัจจัยต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ปกติเบื้องต้นตามการขยายตัวของความเชื่อมั่นทางธุรกิจและแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่วนการผลิตยูโรโซนอยู่ในภาวะเฝ้าระวังลดลงตามผลผลิตที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้น

ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า จากดัชนี MPI ที่ปรับลดลง สศอ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เดินหน้าดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดเป้าหมายมาตรการสนับสนุนทั้งระยะสั้น กลาง ยาว รวมถึงโครงการเร่งด่วนให้เกิดผลเร็ว (Quick Win) ในอุตสาหกรรม 9 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น สนับสนุนการสร้างความพร้อมของระบบนิเวศข้อมูลสำหรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมกับสถาบันยานยนต์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย หวังกระตุ้นดัชนี MPI ให้กลับมาฟื้นตัวได้ รวมถึงตอบรับนโยบายของ รมว.อุตสาหกรรม

"จากสถิติช่วงเดือน ก.พ.ดัชนีฯ จะเป็นขาลง จึงคิดว่าน่าจะปรับตัวขึ้นดีในเดือน มี.ค. แต่ดัชนีฯ คงยังไม่เป็นบวก แต่จะติดลบน้อยลง" นายภาสกร กล่าว
*จ่อทบทวนเป้าหมายดัชนี MPI หลัง Q1/68

ส่วนการทบทวนเป้าหมายดัชนี MPI ในปีนี้ที่ตั้งไว้ 1.5-2.5% นั้นคงต้องรอให้ผ่านช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ไปก่อน ซึ่งจะได้หารือร่วมกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเพื่อพิจารณาต่อไป

สำหรับมาตรกรรองรับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายทรัมป์ 2.0 นั้น ที่ผ่านมาเกิดผลกระทบทางอ้อมเนื่องจากไทยส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนไปเม็กซิโกและแคนาดา ขณะที่รัฐบาลได้หารือกับภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ถึงแนวทางแก้ไขปัญหา โดยจะมีการเจรจาเสนอให้มีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง และยังไม่มีการประเมินความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการดังกล่าว ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน สศอ.กำลังศึกษาข้อดี-ข้อเสียของมาตรการที่จะนำมาใช้ป้องกันสินค้าราคาถูกทะลักเข้ามา เช่น การกำหนดมาตรการ Green Industry


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ