ธปท. เผยเศรษฐกิจไทย ก.พ.ชะลอ ตามท่องเที่ยว-ลงทุนเอกชนแผ่ว แม้ส่งออกโต

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 31, 2025 14:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยเศรษฐกิจไทยเดือนก.พ.68 ชะลอลงจากเดือนก่อน จากภาคบริการที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว เนื่องจากจำนวนและรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ประกอบกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง โดยเฉพาะหมวดเคมีภัณฑ์และปิโตรเลียม และการลงทุนภาคเอกชนลดลงหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี การส่งออกปรับเพิ่มขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และโลหะมีค่า ด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น และการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องจากทั้งรายจ่ายประจำและลงทุนของรัฐบาลกลาง

*การบริโภคภาคเอกชน

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากหมวดสินค้าไม่คงทนเป็นสำคัญ ตามปริมาณ การใช้ไฟฟ้าและยอดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตามหมวดสินค้ากึ่งคงทนทรงตัว โดยปริมาณการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มลดลง ขณะที่ยอดจำหน่ายสินค้ากึ่งคงทนเพิ่มขึ้นหมวดสินค้าคงทนลดลง ตามยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ ขณะที่ยอดจำหน่ายรถกระบะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หมวดบริการลดลงจากหมวดโรงแรมและภัตตาคาร สอดคล้องกับจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง สำหรับความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงเล็กน้อยจากความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง

*การลงทุนภาคเอกชน

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในทุกหมวดหลัก โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและ อุปกรณ์ลดลงหลังจากเร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า ตามการนำเข้าสุทธิในหลายสินค้าทุน อาทิ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สำนักงานอุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องจักรที่ใช้ในงานเฉพาะทาง สำหรับหมวดยานพาหนะลดลงจากหมวดรถยนต์นั่งเป็นสำคัญและหมวดก่อสร้างลดลง ตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างจากทั้งหมวดที่อยู่อาศัยและไม่ใช่ที่อยู่อาศัย สอดคล้องกับภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมที่ยังซบเซาและธุรกิจบางส่วนชะลอการลงทุนเพื่อรอดูทิศทางนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก

*จำนวนและรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

จำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซีย หลังเร่งไปแล้วในช่วงก่อนหน้าจากเทศกาลตรุษจีน นอกจากนี้ยังมีผลของความกังวลด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจีน อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวในหลายสัญชาติยังขยายตัว อาทิ ญี่ปุ่น อินเดีย และรัสเซีย

*การส่งออกสินค้า

มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการส่งออก

(1) หมวดยานยนต์ ทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไปออสเตรเลียและอาเซียน รถกระบะไปออสเตรเลีย และยางล้อไปสหรัฐฯ

(2) หมวดอิเล็กทรอนิกส์ ในหลายสินค้า อาทิคอมพิวเตอร์แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ตามวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และการเร่งส่งออกบางสินค้าไปสหรัฐฯ จากความกังวลเรื่องการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า

(3) หมวดโลหะมีค่า ตามการส่งออกทองคำขาวไปยังอินเดีย จากมาตรการลดภาษีนำเข้าโลหะมีค่าของอินเดีย และคาดว่าผลดีจะสิ้นสุดในไตรมาสที่ 1 เนื่องจากศุลกากรอินเดียปรับเงื่อนไขการนำเข้าให้เข้มงวดมากขึ้น ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม

สำหรับการส่งออกปิโตรเลียมลดลง ตามการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปหลังจากเร่งไปในเดือนก่อนหน้า

*การนำเข้าสินค้า

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน จากหมวดเชื้อเพลิงตามปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ และหมวดสินค้าทุนตามการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า อย่างไรก็ดีหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นตามการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวัน และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์จากจีน

*การผลิตภาคอุตสาหกรรม

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออกน้อยกว่า 30% จากหมวดเคมีภัณฑ์ตามการชะลอการผลิตปุ๋ย เพื่อรอดูความชัดเจนของมาตรการควบคุมราคาปุ๋ย และหมวดปิโตรเลียมที่เร่งผลิตไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกมากกว่า 60% ลดลงตามหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จากการระบายสินค้าคงคลัง อย่างไรก็ดี การผลิตในบางหมวดปรับดีขึ้นสอดคล้องกับการส่งออก ได้แก่ หมวดแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ตามการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ และหมวดยานยนต์ตามการผลิตรถยนต์นั่งเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การผลิตในหมวดยานยนต์ยังอยู่ในระดับต่ำ

*ภาคบริการ

เครื่องชี้ภาคบริการที่ไม่รวมการซื้อขายทองคำและขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยกิจกรรมบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปรับลดลงจากทั้งธุรกิจโรงแรมและภัตตาคารและการขนส่งผู้โดยสาร สอดคล้องกับจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติสำหรับกิจกรรมบริการที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตปรับลดลงจากทั้งการค้าและขนส่งสินค้า ตามยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคและการผลิตในภาคอุตสาหกรรม

*รายได้เกษตรกร

รายได้เกษตรกรขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากด้านผลผลิตเป็นสำคัญ โดยผลผลิตอ้อย ยางพารา และข้าวขยายตัวตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ขณะที่ด้านราคาหดตัวเล็กน้อยตามราคาข้าวและอ้อยจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งราคามันสำปะหลังที่ความต้องการมันเส้นจากจีนลดลง

*การใช้จ่ายภาครัฐ

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเงินบำนาญ ค่าตอบแทนบุคลากร และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านสาธารณูปโภคและคมนาคม ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและพลังงาน

*ภาวะการเงิน

การระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนจากการระดมทุนผ่านตลาดสินเชื่อและตลาดตราสารหนี้เป็นสำคัญโดยการระดมทุนผ่านตลาดสินเชื่อสุทธิเพิ่มขึ้นจากธุรกิจการผลิต อสังหาริมทรัพย์ธุรกิจด้านโครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจโฮลดิ้ง แม้ภาคการค้าจะหดตัวจากเดือนก่อน ด้านการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้นตามธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการเกษตร รวมทั้งกลุ่มธุรกิจด้านโทรคมนาคม โดยเป็นการกู้ยืมเพื่อการต่ออายุ (rollover) หุ้นกู้ที่ครบกำหนดเป็นสำคัญ

สำหรับต้นทุนการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์2568 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นและระยะยาวปรับลดลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการคาดการณ์ของนักลงทุนว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในระยะข้างหน้า

*อัตราแลกเปลี่ยน

เดือนก.พ. 68 เงินบาทเฉลี่ยแข็งค่าขึ้น หลังมาตรการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนไม่รุนแรงเท่าที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดี ในเดือนมี.ค. 68 (ข้อมูลถึง 25 มี.ค.) เงินบาทเฉลี่ยทรงตัวใกล้เคียงเดิม ตามการคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ เป็นไปตามที่ตลาดคาด

ด้านดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากตลาดลดความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการค้าระหว่าง สหรัฐฯ และจีน

*เสถียรภาพเศรษฐกิจ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อนจากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ โดยเป็นผลของฐานสูงในปีก่อน และราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดเพิ่มขึ้น จากราคาเนื้อสุกร ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสำเร็จรูป เครื่องประกอบอาหาร และค่าโดยสารสาธารณะหลังสิ้นสุดมาตรการยกเว้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าและรถเมล์ เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของภาครัฐ

สำหรับภาวะตลาดแรงงานโดยรวมปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามจำนวนผู้ประกันตนมาตรการ 33 ในภาคบริการ ขณะที่การจ้างงานในภาคการผลิตทรงตัว ด้านสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานรายใหม่ต่อผู้ประกันตนรวมลดลง โดยเฉพาะในธุรกิจผลิตรถยนต์และธุรกิจขนส่ง อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานรวมต่อผู้ประกันตนรวมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องซึ่งอาจสะท้อนถึงการหางานใหม่ในระบบประกันสังคมที่ยากขึ้น

ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากดุลการค้าเป็นสำคัญ ตามการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลลดลงจากรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ