SCB EIC ประเมินแผ่นดินไหวทำเสียหายกว่า 3 หมื่นลบ.จับตาท่องเที่ยว เม.ย.-อสังหากทม.วูบ-ภาษีสหรัฐกดดัน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 1, 2025 12:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ระดับ 2.4% โดยต้องจับตาประเด็นสำคัญที่เข้ามาเพิ่มเติมคือ ผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ และการที่สหรัฐฯ จะประกาศนโยบายปรับขึ้นภาษีในวันที่ 2 เม.ย.นี้

โดยมองว่าเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าราว 3 หมื่นล้านบาท ใน 3 ภาคส่วนหลัก ได้แก่ 1.ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณการยกเลิกการจองห้องพักและตั๋วเครื่องบิน ซึ่งเชื่อว่าจะเห็นผลกระทบได้ชัดเจนที่สุดในเดือนเม.ย.นี้ จากนั้นจะค่อยคลี่คลายและกลับเข้สู่ภาวะปกติได้ในราว 3-4 เดือนถัดไป

"ในกรณี base case เรามองว่าเหตุแผ่นดินไหว อาจทำให้ยอดนักท่องเที่ยวหายไปราว 4 แสนคน ซึ่งจะเห็นชัดสุดในเดือนเม.ย.นี้...สถานการณ์จะดีหรือแย่ไปกว่านี้ ต้องขึ้นกับมาตรการฟื้นความเชื่อมั่นของภาครัฐที่จะออกมา" นายยรรยง ระบุ

2.ภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดฯ ที่จะทำให้ยอดจองและยอดโอนชะลอออกไปก่อน คาดว่ามูลค่าการโอนอสังหาฯ ในกทม. จากที่โตเล็กน้อย อาจจะติดลบราว 1% ในปีนี้

3.การใช้จ่ายและการบริโภคกลุ่มสินค้าคงทน เช่น รถยนต์

นายยรรยง มองว่า เครื่องยนต์หลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงเป็นภาคการท่องเที่ยว จากที่คาดว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยอยู่ที่ราว 38.2 ล้านคน แต่เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวล่าสุดอาจทำให้ต้องทบทวนตัวเลขใหม่อีกครั้ง นอกจากนี้ มาตรการของภาครัฐที่เข้ามาช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต ก็อาจจะเป็นอีกแรงที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

สำหรับผลกระทบของเศรษฐกิจไทย จากนโยบายปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐนั้น นายยรรยง มองว่า ในระยะสั้นอาจทำให้เกิดความผันผวนต่อทั้งตลาดเงินและตลาดทุน แต่ระยะต่อไปเชื่อว่าภาครัฐจะมีการเจรจาต่อรองกับสหรัฐเพื่อให้มาตรการที่สหรัฐจะนำออกมาใช้ในระยะต่อไปนั้นมีผลกระทบต่อไทยให้น้อยที่สุด

อย่างไรก็ดี เบื้องต้นคาดว่าจะมีผลกระทบต่อ GDP ของไทยราว 1% ในกรณีที่สินค้าไทยถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 10% เนื่องจากไทยส่งออกไปสหรัฐในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับภาคส่งออกมีน้ำหนักต่อ GDP ค่อนข้างมาก

นายยรรยง กล่าวว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่จะเห็นได้ชัดเจน หากสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลกระทบที่จะมีต่อภาคการส่งออก กล่าวคือ จะทำให้การส่งออกสินค้าของไทยไปยังสหรัฐชะลอตัวลง รวมถึงการส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนก็ชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกัน จะได้เห็นสินค้าจากจีนที่จะไหลเข้ามายังตลาดไทยมากขึ้น

"ถ้าในแง่ของมาตรการที่จะรองรับ ต้องมีทั้งเชิงรับและเชิงรุก เรื่องการเจรจาถึงอย่างไรแล้ว ก็คงต้องเดินหน้าต่อ โดยต้องทำไปพร้อมกับการขยายตลาดส่งออกอื่นเพิ่มเติม นอกเหนือจากสหรัฐ รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าอุตสาหกรรมไทย ให้เป็นที่ต้องการของตลาดโลก" นายยรรยง กล่าว

ทั้งนี้ ประเมินว่ากลุ่มสินค้าที่อาจได้รับผลจากการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าจากจีน ได้แก่ กลุ่มรถยนต์, เหล็ก, เครื่องใช้ไฟฟ้า, สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเคมีภัณฑ์ ซึ่งในอนาคตยังมีโอกาสที่การแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งต้องรอดูว่ารัฐบาลจะมีนโยบายเข้ามาดูแลให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมได้มากขึ้นอย่างไรบ้าง

นายยรรยง ยังกล่าวด้วยว่า แม้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของประเทศไทย จะเข้าใกล้ระดับชนเพดานที่ 70% แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะวิกฤตในเร็ว ๆ นี้ แต่เราต้องเริ่มปรับตัวและปฏิรูปนโยบายการคลัง โดยเฉพาะฝั่งของการหารายได้ ด้วยการขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้น ส่วนฝั่งรายจ่ายนั้น หากจะมีการปฏิรูปการใช้จ่ายก็ต้องลดภาระค่าใช้จ่ายทางการคลังในส่วนที่ไม่จำเป็น และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายของภาครัฐให้มากขึ้น รวมทั้งประเมินความคุ้มค่าในโครงการหรือมาตรการต่าง ๆ ที่ได้ออกมา เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับอนาคต

"ปัญหาที่เราเห็นในปัจจุบัน ไม่ว่าเงื่อนไขใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เช่น สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ภาครัฐ สัดส่วนดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้ภาคประชาชน เหล่านี้แตะเกณฑ์แล้ว สะท้อนว่าสัดส่วนรายได้ของประเทศต่อจีดีพีเริ่มลดลง ต่อให้เราไม่ได้ปรับลดภาระภาษีลง แต่รายได้ภาษีที่รัฐเก็บได้มีสัดส่วนน้อยลงเรื่อย ๆ แสดงว่าภาระการคลังในอนาคต เช่น สังคมผู้สูงวัย ประกันสังคม การลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทย ก็จะมีข้อจำกัด ดังนั้นการปฏิรูปการคลังฝั่งรายได้ เป็นสิ่งที่ต้องทำจริง ๆ จัง ๆ แต่คงไม่ใช่การปรับขึ้นภาษี แต่ทำให้ส่วนของการขยายฐานภาษี ให้คนเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น" นายยรรยง กล่าว

สำหรับหนี้ครัวเรือน ซึ่งตัวเลขล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 4/2567 พบว่าหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 88.4% ของจีดีพี ซึ่งแม้จะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนโควิด ซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของไทย ซึ่งในหนี้ภาคครัวเรือนจะพบว่ามีลูกหนี้ค่อนข้างมากที่ยอดหนี้สูงกว่าระดับความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบมาสู่การบริโภคด้วย โดยเฉพาะประเภทสินค้าคงทนที่จะได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก เช่น ที่อยู่อาศัย รถยนต์ และกระทบมาถึงการลงทุนของภาคเอกชนที่จะตอบสนองต่อกำลังซื้อที่ยังซบเซา

"เป็นปัญหาที่ต้องใช้เวลา อย่างน้อย 3 ปีถึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลง ต้องทำคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และการเพิ่มรายได้ให้ภาคครัวเรือน ภาครัฐเข้ามาช่ว reskill ช่วยเพิ่มรายได้ให้คนกลุ่มนี้ ฝั่งธนาคารก็อาจต้องดูว่าจะทำอย่างไร เพื่อผ่อนปรนให้สอดคล้องกับความสามารถของลูกหนี้ที่จะชำระคืนหนี้ได้ เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา และจะยังเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจไปอีก 2-3 ปี" นายยรรยง ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ