นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่าสถานการณ์เหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาสั่นสะเทือนถึงประเทศไทย ขณะนี้สถานการณ์ทั้งในกรุงเทพและจังหวัดอื่น ๆ คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ยืนยันความพร้อมที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือ BIMSTEC ครั้งที่ 6 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 2-4 เม.ย.นี้ ซึ่งถือเป็นการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกที่รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ก่อนที่จะส่งมอบตำแหน่งประธาน BIMSTEC ให้กับบังกลาเทศต่อไป "อาคาร โครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งท่าอากาศยาน สถานที่จัดประชุม โรงแรมที่พัก และช่องทางการคมนาคมขนส่ง มีความปลอดภัย สามารถใช้งานได้เต็มที่ตามปกติ และไม่ได้รับผลกระทบจากหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา"นายนิกรเดช กล่าว สำหรับเหตุอาคารที่กำลังก่อสร้างของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพยายามอย่างยิ่งในการค้นหาผู้รอดชีวิต โดยได้รับความช่วยเหลือจากนานาชาติ กระทรงการต่างประเทศได้แสดงความขอบคุณ และรมว.ต่างประเทศได้เดินทางไปยังพื้นที่เขตจตุจักรให้กำลังใจบุคลากรที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งทุกความช่วยเหลือทำให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติและเดินหน้าต่อ รวมทั้งมีความพร้อมจะให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติภัยครั้งนี้ คือ ประเทศเมียนมา นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ ยังได้เข้าร่วมการประชุมวาระพิเศษฉุกเฉินของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนต่อกรณีแผ่นดินไหวในเมียนมาผ่านระบบการประชุมทางไกล ที่ประชุมได้แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันต่อไทยและเมียนมาในการรับมือกับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้และยืนยันความพร้อมที่จะสนับสนุนด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาอย่างเร่งด่วน ซึ่งไทยได้เริ่มส่งความช่วยเหลือเข้าไปยังเมียนมาเพื่อภารกิจค้นหาและช่วยเหลือแล้ว ขณะที่รมว.ต่าวประเทศไทยและมาเลเซียจะเดินทางไปยังเมียนมาในวันที่ 5 เม.ย.นี้ เพื่อรับทราบความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่และหารือแนวทางให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อไป
นายนิกรเดช ยังกล่าวถึงการประชุม BIMSTEC ว่า เอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 ประกอบด้วย การรับรองปฏิญญาผู้นำ BIMSTEC, การรับรองเอกสารวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030, การลงนามความตกลงความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล, การรับรองกฎระเบียบสำหรับกลไก BIMSTEC, การรับรองรายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยการกำหนดทิศทางของ BIMSTEC, การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง BIMSTEC และ IORA (Indian Ocean Rim Association) กับ UNODC (UN Officice Drugs and Crime)
BIMSTEC มี 7 สาขาความร่วมมือ ได้แก่ การค้า การลงทุน การพัฒนา เศรษฐกิจสีน้ำเงิน, สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และเศรษฐกิจแห่งขุนเขา, ความมั่นคง พลังงาน และการบริหารจัดการภัยพิบัติ, การเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร การประมงและปศุสัตว์, ปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและการขจัดความยากจน, วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สาธารณสุข ทรัพยากรมนุษย์, ความเชื่อมโยง
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศนำในสาขาความเชื่อมโยง เพื่อให้ BIMSTEC เชื่อมกันได้อย่างไร้รอยต่อ เป็นรากฐานการค้าภายใน BIMSTEC ต่อยอดไปยังการค้าในเอเชีย โดยใช้ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ไทยตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก เป็นเสมือนส่วนเชื่อมจักรกลางของความร่วมมือ นอกจากนั้น ยังเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างไทยกับภูมิภาคอ่าวเบงกอล ทำให้ไทยมีตัวเลือกในการเข้าถึงตลาดสินค้า รวมถึงผู้ซื้อในวงกว้างมากขึ้น เนื่องจากภูมิภาคเอเชียใต้มีการเติบโตของเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ห่วงโซ่อุปทานแข็งแรง และคงทนต่อปัจจัยภายนอก ทั้งจากภัยพิบัติ และการเมืองโลก ช่วยให้ไทยเพิ่มศักยภาพทางการค้าและมีบทบาททางด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคมากยิ่งขึ้น
นายกรัฐมนตรียังได้เชิญนายเค พี ศรรมะ โอลี นายกรัฐมนตรีเนปาลและนายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีอินเดียเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างการประชุมผู้นำ BIMSTEC ซึ่งจะมีการหารือทวิภาคีเพื่อยกระดับความร่วมมือในหลากหลายสาขา