
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมของไทย ต่อนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า ขณะนี้ทั้งไทยและทั่วโลกต่างเฝ้าจับตาการประกาศนโยบายภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff Policy) ของสหรัฐฯ ซึ่งมุ่งเน้นไปยังกลุ่ม 15 ประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลทางการค้าด้วยเป็นหลัก
ทั้งนี้ จากการที่ไทยได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ สูง จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับขึ้นภาษี เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าลำดับที่ 11 ดังนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว ไทยเองควรพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหาร และพลังงาน เพื่อลดความกดดันด้านดุลการค้า รวมถึงพิจารณาปฏิรูปโควตาภาษีนำเข้าของไทยกับสหรัฐฯ ให้มีจุดยืนที่เป็นธรรมและสมดุล (Fair and Balance Position) ในการเจรจากับสหรัฐฯ

ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หนึ่งในแนวทางที่สำคัญ ในการลดแรงกดดันทางการค้าจากสหรัฐฯ คือ การเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตร และอาหารที่จำเป็น จากสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยให้ไทยมีจุดยืนที่ดีขึ้นในการเจรจาต่อรอง หากพิจารณามูลค่าการค้าเฉพาะหมวดสินค้าเกษตรและอาหารพบว่าไทยเกินดุลสหรัฐฯ เพียง 142,634 ล้านบาท โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเกษตรอาหารอันดับที่ 11 ของโลก และไทยยังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ให้มากขึ้นได้ คือการนำเข้าวัตถุดิบที่มีคุณภาพ และราคาที่เหมาะสม
"หอการค้าฯ เสนอให้รัฐบาลไทยเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่จำเป็นจากสหรัฐ เพื่อช่วยลดแรงกดดันทางการค้า โดยพิจารณาการนำเข้าสินค้ากลุ่มต่าง ๆ ที่จะไม่กระทบต่อผู้ค้า และเกษตรกรภายในประเทศของไทย" นายพจน์ ระบุ
โดยกลุ่มสินค้าที่เสนอให้นำเข้าจากสหรัฐ ได้แก่
1. พืชอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, ถั่วเหลือง) ที่ผ่านมา ไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และปัจจุบันยังต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และหมอกควัน การเปิดโควตานำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐฯ ในช่วงนอกฤดูเก็บเกี่ยวของไทย จะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ (โค สุกร ไก่) ไทยมีต้นทุนวัตถุดิบที่ดีและถูกลง ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกเนื้อสัตว์ไปต่างประเทศดีขึ้น รวมทั้งจะช่วยผู้บริโภคในประเทศในประเภทเนื้อสัตว์ด้วย
2. สินค้าอาหารทะเล เช่น ปลาแซลมอนแช่แข็ง หอยเชลล์ และปลาทูน่าจากเรือชักธงสหรัฐฯ ซึ่งไทยสามารถนำเข้าวัตถุดิบเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปภายในประเทศ
3. สินค้าประเภทสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ (Whisky & Wine)
4. เครื่องในสัตว์ เพื่อนำมาผลิตและแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง ทำเป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยมเพื่อส่งออก
ทั้งนี้ หอการค้าไทย มองว่านโยบายภาษีของสหรัฐฯ จะทำให้ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของโลกเปลี่ยนไปอย่างรุนแรง ซึ่งปัจจุบันประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่นได้มีการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคกันแล้ว อีกทั้งสหภาพยุโรปก็มีแนวโน้มที่จะร่วมมือกับแคนาดาในการเปิดตลาดกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกด้วยเช่นกัน ดังนั้น หอการค้าไทย เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเร่งเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง FTA ไทย-ยุโรป FTA อาเซียน-แคนาดา รวมถึงการปรับปรุงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ให้สำเร็จภายในปี 2568 นี้ให้ได้ ซึ่งจะทำให้ GDP ของไทยเติบโตขึ้นได้ไม่ต่ำกว่า 1% รวมทั้งการส่งออกจะโตได้ไม่ต่ำกว่า 10% ซึ่งจะลดผลกระทบจากนโยบาย Trump Tariff