หวั่นซ้ำรอย! ไฮสปีดไทย-จีนเฟส 2 ฝ่ายไทยขอตรวจแบบ-ควบคุมงานเอง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 2, 2025 14:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หวั่นซ้ำรอย! ไฮสปีดไทย-จีนเฟส 2 ฝ่ายไทยขอตรวจแบบ-ควบคุมงานเอง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 32(Joint Committee หรือ JC) วันที่ 2 เม.ย. 68 ว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือ เกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 (เฟส 2) ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร (กม.) โดยขณะนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) คาดว่า จะแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน จากนั้นจะเริ่มกระบวนการประกวดราคา และก่อสร้างภายในปี 68 นี้ ซึ่ง เส้นทางนี้มีความสำคัญ เนื่องจากจะรองรับการขนส่งสินค้าเชื่อมต่อระหว่างไทย จากจังหวัดหนองคาย -สปป.ลาว -จีน ส่วน การขนส่งสินค้าหนัก จะใช้ระบบรถไฟทางคู่ไปยังหนองคายได้ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อภูมิภาค

ทั้งนี้ ประเด็นที่ทางจีนต้องการเข้ามาตรวจสอบแบบก่อสร้างโครงการในระยะที่ 2 เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกับโครงการในระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา โดยจีนเสนอค่าใช้จ่ายในการตรวจแบบ วงเงิน 300 ล้านบาทและล่าสุดเจรจาต่อรองยู่ที่ 250 ล้านบาทนั้น นายสุริยะกล่าวว่า วันนี้ได้พูดคุยเรื่องนี้และได้ยืนยันกับทางบริษัทจีนว่า ฝ่ายไทยจะดำเนินการตรวจแบบและควบคุมงานการก่อสร้างเอง เนื่องจากเชื่อมั่นในความสามารถของวิศวกรของไทย ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล ส่วนวัสดุก่อสร้างจะใช้ภายในประเทศเกือบ 100% โดยจะมีการตรวจสอบทั้งระบบอย่างเข้มข้น รวมถึงมีประเด็นที่รฟท.ยังหางบประมาณเพิ่มเติมที่จะนำมาจ่ายค่าตรวจแบบให้จีนไม่ได้ สุดท้ายจึงตกลงกันว่าไม่จำเป็นที่ทางจีนจะเข้ามาตรวจแบบ ส่วนเรื่องที่เกิดกับตึกสตง.ไม่น่าเกี่ยวข้อง

สำหรับการประกวดราคาก่อสร้างงานโยธารถไฟไทย-จีน เฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย นั้น จะประกวดราคา ด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 จะใช้ผู้รับเหมาสัญชาติไทย รูปแบบเดียวกับ การโครงการในระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ไม่ใช้การประกวดราคาแบบนานาชาติ (International Bidding) สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา และมีเหตุอาคารถล่ม ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ต้องทบทวนกระบวนการควบคุมคุณภาพการก่อสร้างทั้งระบบ โดยเฉพาะงานโครงสร้างขนาดใหญ่อย่างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ รฟท. ตรวจสอบคุณภาพของวัสดุและการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการรับแรงสั่นสะเทือนและต้านทานแผ่นดินไหว โดยจะนำบทเรียนต่าง ๆ มาปรับใช้ในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยเพิ่มเติม

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงมีการทดสอบวัสดุก่อสร้างทุกขั้นตอนและมีการตรวจรับรองคุณภาพในทุกขั้นตอน ตั้งแต่แหล่งผลิต จนถึงการติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ เช่น การตรวจโรงงานเพื่ออนุมัติและรับรองการผลิต อีกทั้งก่อนที่จะนำเหล็กจากโรงงานมาใช้ ต้องมีการทดสอบคุณภาพของเหล็กตามข้อกำหนด โดยจะมีการทดสอบที่เพิ่มจากมาตรฐานของไทยคือต้องมีการทดสอบความล้าของเหล็กแต่ละขนาด ขณะเดียวกัน เมื่อนำเหล็กมาถึงโครงการก่อสร้าง จะต้องมีการเก็บ Tag ของเหล็กไว้ตรวจสอบ และจะต้องมีการสุ่มตัวอย่างโดยผู้ควบคุมงานและทำการทดสอบตามข้อกำหนด ขณะที่ ก่อนทำการเทคอนกรีต ผู้ควบคุมงานจะทำการสุ่มตรวจจำนวน และขนาดเหล็ก เมื่อผ่านมาตรฐานแล้ว จึงจะทำการเทคอนกรีต

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. นั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างที่มีความล่าช้า ซึ่งจากการเช็คแผนก่อสร้างที่เหลือ คาดว่า จะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572

นายวีริศ ยืนยันว่า รฟท. ดำเนินการบนมาตรฐานที่สูง ขณะที่โครงสร้างเหล็กต่าง ๆ มีมาตรฐานตามระดับสากล และได้รับรายงานว่า โครงการไทย-จีน เฟส 1 ใช้เหล็กของ บมจ. ทาทา สตีล (ประเทศไทย) หรือ TSTH อีกทั้ง การดำเนินการก่อสร้างโครงการ ได้ทำการออกแบบ เพื่อรองรับแผ่นดินไหวอยู่แล้ว

ส่วนการตรวจสอบ สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 9,348 ล้านบาท โดยมีผู้รับจ้างเป็น บจ. กิจการร่วมค้า ITD - CREC No.10 ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมมือกับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย รวมถึงวิศวกรทีมีความเชี่ยวชาญดำเนินการตรวจสอบแล้ว คาดว่า จะทราบผลภายใน 2 วัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ