นโยบายภาษีทรัมป์ กระทบแน่ 2 แสนลบ. รัฐ-เอกชน กางแผนรับมือ พร้อมเพิ่มนำเข้าสินค้าสหรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 2, 2025 16:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นโยบายภาษีทรัมป์ กระทบแน่ 2 แสนลบ. รัฐ-เอกชน กางแผนรับมือ พร้อมเพิ่มนำเข้าสินค้าสหรัฐ

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในระหว่างการแถลงข่าวถึงความพร้อมของไทยในการรับมือกับนโยบายด้านภาษีของสหรัฐฯ ที่กำลังจะประกาศออกมา ว่า นับตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ รัฐบาลโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาขึ้นทันที เพื่อร่วมกับภาคเอกชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ได้ประเมินมาตรการภาษีสหรัฐ 4 รูปแบบ คือ 1.ขึ้นภาษีรายประเทศ 2.ขึ้นภาษีรายสินค้า 3.ขึ้นภาษีกับกลุ่มประเทศที่มีปัญหายาเสพติด และอพยพเข้าเมือง 4.ขึ้นภาษีตอบโต้ โดยที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ทยอยขึ้นภาษีแล้ว และที่กระทบกับไทย คือ กลุ่มเหล็ก และผลิตภัณฑ์ รวมถึงอะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ เป็น 25%

แต่สิ่งที่ต้องจับตาต่อจากนี้ คือ ขึ้นภาษีกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ในวันที่ 3 เม.ย.68 จากปัจจุบัน 0-4.9% เป็น 25% และยังจะมีเพิ่มเติมอีก 2-3 รายการ ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ อาจขึ้นเป็น 25% ผลิตภัณฑ์ยา และไม้และผลิตภัณฑ์จากป่า รวมถึงการขึ้นภาษีตอบโต้สินค้าไทยอีกหลายรายการ จากกรณีที่ไทยเก็บภาษีนำเข้าสูงกว่าที่สหรัฐฯ เก็บจากไทย โดยปัจจุบัน ไทยเก็บภาษีนำเข้าสูงกว่าสหรัฐเฉลี่ย 11% หากสหรัฐฯขึ้นภาษีเท่ากับไทย จะทำให้ไทยเสียหาย 7,000-8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (230,000-270,000 ล้านบาท) สินค้าที่จะได้รับผลกระทบ เช่น ข้าว กุ้งแปรรูป ยางล้อรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์

อย่างไรก็ตาม ไทยได้เตรียมแนวทางการเจรจาไว้แล้ว โดยอาจลดภาษีนำเข้า และเพิ่มปริมาณนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพื่อลดการเกินดุลการค้า เช่น เพิ่มปริมาณนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง ที่ไทยต้องนำเข้าอยู่แล้วทุกปี, นำเข้าเนื้อวัว เศษเนื้อ และเครื่องใน, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงประสานให้ บมจ.การบินไทย (THAI) เช่าหรือซื้อเครื่องบินจากสหรัฐฯ และให้ บมจ. ปตท. (PTT) นำเข้าพลังงาน เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมเหลว รวมทั้งปิโตรเคมี เพิ่มขึ้นด้วย

นายวุฒิไกร ยอมรับว่า ไทยคงไม่สามารถลดภาษีหรือนำเข้าสินค้าเพิ่ม เพื่อแก้การดุลการค้า 30,000-40,000 ล้านเหรียญฯ ได้ทั้งหมด ดังนั้นจะต้องดำเนินการในมิติอื่นด้วย ทั้งการลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มการจ้างงาน ซึ่งภาคเอกชน ทั้งกลุ่มอาหาร และพลังงาน พร้อมลงทุนเพิ่ม จากปัจจุบันนที่ไทยลงทุนอยู่แล้วใน 20 มลรัฐ มีการจ้างงานกว่า 11,000 ตำแหน่ง

ส่วนข้อกังวลของสหรัฐ เรื่องการสวมสิทธิสินค้าไทยส่งออกต่อไปสหรัฐฯ นั้น ขณะนี้ กรมการค้าต่างประเทศได้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และขึ้นบัญชีสินค้าเสี่ยงสวมสิทธิแล้ว 49 รายการ โดยเฉพาะเหล็กและผลิตภัณฑ์ ขณะที่ความกังวลเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ของไทยนั้น ได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปรับกฎ ระเบียบ เงื่อนไข พร้อมลดอุปสรรคด้านต่าง ๆ แล้ว

พร้อมกันนั้น รัฐบาลได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ 2 แนวทาง คือ ระยะสั้น เช่น สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะ SME และระยะยาว การหาตลาดการค้าใหม่ ๆ รวมถึงเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะไทย-สหภาพยุโรป (EU), อาเซียน-แคนาดา ที่จะเสร็จในปีนี้แน่นอน

"แนวทางการเจรจาของไทย รวมถึงการเยียวยาผลกระทบให้ผู้ประกอบการ ได้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว และนายกฯ จะเป็นผู้พิจารณาในท้ายที่สุด แต่ยืนยันว่า แนวทางการเจรจา คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ ทั้งประชาชน ผู้ผลิต เกษตรกร ผู้นำเข้า-ส่งออก และยึดผลประโยชน์ร่วมกัน 2 ฝ่าย เพื่อสร้างสมดุล 2 ประเทศ" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการห่วงคือ สินค้าจีนเข้ามาสวมสิทธิสินค้าไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่ง ส.อ.ท.จับตาดูตัวเลขการส่งออกของไทยมาตั้งแต่ปลายปี 67 ที่ตัวเลขส่งออกเพิ่มขึ้นมาก และยังต่อเนื่องมาจนถึงเดือนก.พ.68 สวนทางกับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ที่ยังไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่การนำเข้าสินค้าจีนก็เพิ่มขึ้นมาก เช่น เดือนม.ค.68 เพิ่มขึ้นถึง 20% เช่น เหล็ก ยางรถยนต์ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจมีการนำสินค้าจีนเข้ามาเพื่อใช้สวมสิทธิไทยส่งออก ดังนั้น ส.อ.ท.จึงตั้งทีมติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ขณะที่นายสมภพ พันธนอริยางกูล รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทย กับสหรัฐมีความร่วมมือด้านพลังงานอย่างใกล้ชิด โดยปี 67 ไทยนำเข้าน้ำมันนำเข้าน้ำมันดิบ ปิโตรเคมี ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลว กว่า 3,000 ล้านเหรียญฯ ล่าสุด ปตท.ลงนาม MOU นำเข้าก๊าซ LNG 1 ล้านตันต่อปี ระยะเวลา 15 ปี รวม 7,500 ล้านเหรียญฯ

นอกจากนี้ ปตท. ยังลงทุนในสหรัฐ 1,200 ล้านบาทในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมถึงขยายการลงทุนไปรัฐอลาสกา ส่วนการที่สหรัฐฯ ขอให้ไทยพิจารณาต่ออายุสัมปทานบริษัทน้ำมันในไทยนั้น เรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ