คลังเร่งฟื้นความเชื่อมั่นอสังหาฯ ดึงยอดจอง-โอนกลับสู่ปกติ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 2, 2025 17:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลัง กำลังเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเข้ามาดูแลภาคธุรกิจอสังหาฯ ได้รับผลกระทบด้านความเชื่อมั่นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ในภาวะที่สูญเสียความเชื่อมั่นได้เป็นอย่างดี โดยคาดว่าจะมีข่าวดีออกมาเร็ว ๆ นี้

สำหรับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์มี 2 มาตรการที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ มาตรการ LTV และมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง โดยจากข้อมูลพบว่า หากมีการใช้มาตรการกระตุ้นอสังหาเพียง 1 มาตรการ จะมีผลต่อซัพพลายในอุตสาหกรรม ที่ 16.8% ถ้าหากไม่มีมาตรการ จะมีผล -0.8% และถ้าใช้ 2 มาตรการ จะมีผล 22.6%

ขณะที่ในภาคดีมานด์ โดยเฉพาะในเรื่องหน่วยของการโอน หากใช้ 1 มาตรการ จะมีผล 1.6% แต่ถ้าไม่มีมาตรการเลย จะ -3.5% แต่ถ้ามีการใช้ 2 มาตรการพร้อมกัน จะมีผล 9.7% ดังนั้นตรงนี้เป็นเครื่องสะท้อนว่า 2 มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ หากมาพร้อมกันจะเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ

ด้านนายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การโอนที่อยู่อาศัย และคอนโดมิเนียม เริ่มกลับมาเป็นปกติแล้ว โดยมียอดโอนเฉลี่ยใกล้เคียงสถานการณ์ปกติที่ 400 ราย/วัน หลังจากธนาคารและผู้ประกอบการคอนโดมิเนียม ร่วมมือกันเร่งสร้างความเชื่อมั่นตรวจรับรองว่าโครงสร้างอาคารมีความแข็งแรง และสามารถเข้าอยู่อาศัยได้ ทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นมากขึ้น และกลับมาโอนเป็นปกติ

"ยอมรับว่าในช่วงวันแรก หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว มีลูกค้าชะลอการตัดสินใจโอนคอนโดฯ ไปบ้าง แต่เป็นแค่ช่วงระยะสั้น และเชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาเรื่องการทิ้งใบจอง หรือยกเลิกสัญญาอย่างที่กังวลกัน เนื่องจากตอนนี้ ความต้องการที่อยู่อาศัยยังมีต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของบ้านเดี่ยวทาวน์เฮาส์ รวมถึงคอนโดฯ โดยประเมินว่าปัจจัยแผ่นดินไหว น่าจะส่งผลกระทบในระยะสั้น ไม่เกิน 3 เดือน หลังจากนั้นน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะเดียวกัน ธอส. ได้เร่งประสานกับผู้ประกอบการในภาคอสังหาฯ ของไทย โดยยืนยันว่าธนาคารพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่" นายกมลภพ กล่าว

ทั้งน้ ยอดการปล่อยสินเชื่อของ ธอส. ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 1/68 ปล่อยกู้ไปแล้ว 46,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 12,000 ล้านบาท โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยแนวราบ (บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์) ที่มีการเติบโตถึง 20% ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ความต้องการกู้เพื่อซื้อบ้านมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าปีก่อน อยู่ที่ 1.1% คิดเป็นวงเงิน 5.93 แสนล้านบาท จากปีก่อนลดลง -13.4% หรือ 5.87 แสนล้านบาท แม้จะมีปัจจัยลบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราว 25% ของครอบครัวไทย หรือราว 8-9 แสนครัวเรือน ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แม้จะมีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากข้อจำกัดในเรื่องสถานที่ทำงาน ที่อยู่อาศัยยังไม่เหมาะสม หรือไม่ตอบโจทย์ความต้องการ เป็นต้น โดยในส่วนของ ธอส. ยังให้ความสำคัญกับที่อยู่อาศัยแนวราบ และบ้านมือสองเป็นหลัก เนื่องจากมองว่าหลังจากนี้คนอาจจะยังไม่อยากอยู่ตึกสูงมากนัก

นายกมลภพ กล่าวอีกว่า ปัจจัยบวกที่มีผลต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2568 จะมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.2-3.2% โดยมีค่ากลางที่ 2.7% จากปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และการขยายตัวต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน

ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำ และคาดว่าจะมีแนวโน้มปรับลดลงอีก 1-2 ครั้งในปีนี้ จะช่วยบรรเทาภาระหนี้สินของครัวเรือนได้ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชน

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนคลายเกณฑ์มาตรการ LTV เป็นการชั่วคราว เพื่อประคับประคองภาคอสังหาริมทรัพย์และช่วยแก้ปัญหาอุปทานคงค้างในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ตั้งแต่ 1 พ.ค.68-30 มิ.ย.69 ตลอดจนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปีนี้

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยลบที่ต้องติดตาม ได้แก่ หนี้สินภาคครัวเรือน แม้ว่าจะเริ่มปรับตัวลดลง แต่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชนลดลง ขณะเดียวกันเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อที่รัดกุมของธนาคารพาณิชย์ และเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ความเชื่อมั่นในการอยู่อาศัยห้องชุดลดลง อาจส่งผลกระทบทางจิตวิทยา ทำให้มีการชะลอการซื้อห้องชุดในระยะสั้น และความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่งผลต่อเสถียรภาพของตลาดเงิน การลงทุนและนโยบายทางภูมิรัฐศาสตร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ