นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ทีม Business Risk and Macro Reserach ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความท้าทายค่อนข้างมาก โดยเฉพาะคืนนี้ ต้องรอติดตามการประกาศรายชื่อประเทศที่สหรัฐจะใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยถือเป็น 1 ในประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐในลำดับต้นๆ หากสหรัฐใช้มาตรการภาษีศุลการกรตอบโต้กับไทยในส่วนต่างที่ไทยเกินดุลกับสหรัฐเต็มที่ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย และเป็นปัจจัยที่อาจจะกระทบต่อ GDP ของไทยด้วยเช่นกัน ซึ่ง Krungthai COMPASS ประเมินการเติบโตของเศรษบกิจไทยปีนี้ไว้ที่ 2.7% ในปี 68
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว เริ่มเห็นการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา โดยเฉพาะชาวจีน หันไปเที่ยวในประเทศอื่นแทน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนาม ประกอบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในไทยล่าสุด อาจจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอการตัดสินใจเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยไปก่อน เกิดความท้าทายมากขึ้นในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามา แต่ยังประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 68 อยู่ที่ 39-40 ล้านคน
ส่วนผลกระทบจากแผ่นดินไหวต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ มองว่าเป็นปัจจัยที่กระทบในระยะสั้น โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดมิเนียม ที่คนอาจจะยังกังวลและชะลอการตัดสินใจซื้อไปก่อน แต่เชื่อว่าเมื่อระยะเวลาผ่านไปราว 3-6 เดือน ความกังวลก็จะคลี่คลายลง หลังจากผู้ประกอบการทุกรายต่างเร่งตรวจสอบความปลอดภัยของอาคาร และฟื้นความเชื่อมั่นกลับมา จึงคาดว่าจะมีลักษณะคล้ายกับช่วงน้ำท่วมเมื่อปี 54 ที่ยอดขายบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ชะลอตัวในช่วงสั้น ๆ ก่อนจะค่อย ๆ กลับฟื้นขึ้นมา เชื่อว่าจะเห็นกลุ่มคอนโดมิเนืยมฟื้นกลับมาในช่วงครึ่งปีหลัง จากแรงหนุนการผ่อนคลายมาตรการ LTV และการต่ออายุมาตรการลดค่าโอนและค่าจดจำนอง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ส่งผลกระทบหลักต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ คือ กำลังซื้อยังคงชะลอตัว และมีข้อจำกัดเรื่องภาระหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้ยังเผชิญกับปัญหาการขอสินเชื่อค่อนข้างยาก โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-ล่าง ที่ยังเห็นการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินในระดับสูง จึงยังคงเป็นปัจจัยที่ท้าทายต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย