นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวในรายการโทรทัศน์เช้านี้ถึงกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีพื้นฐาน (Baseline tariff) สำหรับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ ในอัตรา 10% และภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariff) กับหลายประเทศ โดยไทยโดนเรียกเก็บภาษีสูงถึง 36% ติดอันดับต้น ๆ ในเอเชีย ว่า ยอมรับว่าอัตราภาษีที่ออกมาสูง และค่อนข้างเป็นกังวล แต่เบื้องต้นเชื่อว่าคงไม่ได้เป็นในทุกผลิตภัณฑ์ที่ถูกปรับขึ้นภาษีในระดับดังกล่าวทั้งหมด
ขณะเดียวกัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งติดตามผลกระทบ โดยจะมีการเรียกประชุมทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องเร่งดำเนินการ คือ 1. ดูผลกระทบที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น 2.หามาตรการรองรับ 3.หาแนวทางเจรจา และ 4. มาตรการที่จะต้องช่วยเหลือ บรรเทาผลกระทบกับผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวในเชิงลบของมาตรการภาษีในครั้งนี้
"วันนี้กระทรวงการคลังจะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด่วน เพื่อพิจารณาผลกระทบ รวมถึงหามาตรการรองรับ โดยตัวเลข 36% ที่ออกมานั้น เบื้องต้นคาดว่าน่าจะรวมทุกอย่าง เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าบริการต่าง ๆ เลยดูแล้วค่อนข้างสูง ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งทำการบ้าน จะเจรจาอย่างไร โดยเบื้องต้นประเมินว่าเนื้อภาษีจริง ๆ น่าจะเฉลี่ยแค่ 9% แต่นอกนั้นจะเป็นการรวมค่าธรรมเนียมต่าง ๆ คงไม่ใช่อัตราภาษีในวงกว้างทั้งหมด โดยจะต้องไปดูว่าตัวเลขนั้นคิดคำนวณอย่างไร มีค่าใดบ้าง ต้องไปคุยด้วยความเข้าใจ การเจรจาคงไม่ได้เป็นลักษณะที่ทำอะไรรุนแรง คุยด้วยความเข้าใจว่า มีสินค้าตัวใดที่รู้สึกไม่เป็นธรรม ปรับแก้ได้หรือไม่ และต้องพิจารณาและชั่งน้ำหนักว่า มีผลกระทบต่อประชาชน ผู้ประกอบการอย่างไร" นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าเรื่องนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามในวิกฤติต้องมองหาโอกาส ซึ่งประเด็นนี้อาจทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนภาคการผลิต ซึ่งประเทศไทยมีการผลิตอยู่ ก็อาจจะเกิดประโยชน์และเกิดการแข่งขันได้ ซึ่งก็ต้องไปพิจารณาในรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าคงไม่ต้องรีบเร่งออกมาตรการอะไรในขณะนี้ เพราะต้องพิจารณาในรายละเอียดต่าง ๆ ก่อน เพื่อให้มีข้อมูลที่ชัดเจนที่สุด อีกทั้งต้องดูผลกระทบต่อรายอุตสาหกรรมว่าจะมีผลกระทบอย่างไร รวมถึงภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องต้องมาดูว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
"เรื่องนี้ต้องพยายามชี้แจงเพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่ารัฐบาลทำงานอย่างเต็มที่ และไม่เร่งออกแถลงการณ์หรือมาตรการใด ๆ โดยต้องดูให้รอบคอบก่อน เนื่องจากยังไม่สามารถพูดอะไรได้หากยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ดังนั้นทุกคนต้องร่วมมือกัน ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะมีการประชุมอย่างเข้มข้น ขอให้ผู้ประกอบการ ประชาชนติดตามข่าวสารทุทุกอย่างจากทางการ ทุกปัญหามีทางออก และรัฐบาลจะพยายามดำเนินการเพื่อประโยชน์ของคนไทยแน่นอน"นายจุลพันธ์ ระบุ