ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐจะทำความเสียหายให้กับไทยรวม 374,851.8 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.02% ต่อ GDP
นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 มีศูนย์กลางในเมียนมาส่งผลกระทบต่อประเทศไทย คาดว่าจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจในกรณีฐาน อยู่ที่ 15,747.8 ล้านบาท (0.08% ของ GDP) แบ่งเป็น ผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน 3,098.6 ล้านบาท (0.02%) และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 12,649.2 ล้านบาท (0.06%)
โดยในกรณีแย่กว่าและดีกว่า ผลกระทบรวมอาจจะอยู่ในช่วง 10,637.6-22,072.4 ล้านบาท (0.06-0.12% ของ GDP) ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความรุนแรงของผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบรุนแรง โดยนักท่องเที่ยวขอเช็กเอาต์ล่วงหน้า 8-10% และรายได้ธุรกิจโรงแรมลดลง 10-15% ขณะที่การจองที่นั่งสายการบินลดลง 40-60% โดยเฉพาะตลาดจีน อินเดีย เวียดนาม และมาเลเซีย
อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อการบริโภคเป็นเพียงระยะสั้นมาก เนื่องจากรายได้ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ ธุรกิจยังดำเนินงานได้ต่อเนื่อง ขณะที่ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอยู่ในระยะสั้นถึงปานกลาง ขึ้นอยู่กับการฟื้นฟูความเชื่อมั่น
สำหรับมาตรการรับมือควรแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1. ระยะเร่งด่วน สื่อสารและสร้างความเชื่อมั่น 2. ระยะสั้น ฟื้นฟูภาพลักษณ์และสนับสนุนผู้ประกอบการท่องเที่ยว และ 3. ระยะกลาง ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยอาคารและระบบประกันภัย
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ประเด็นอยู่ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาอย่างไร ทั้งนี้ ผลกระทบในไทยเป็นผลกระทบเฉพาะจุด โดยจุดที่เป็นประเด็นสำคัญ คือ อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม แต่ไม่มีภาพข่าวโรงแรมที่พัก สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญเสียหาย ดังนั้น เมื่อนักท่องเที่ยวได้รับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง เชื่อว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาในช่วงสงกรานต์ เช่น นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาแล้ว โดยประเมินว่า นักท่องเที่ยวน่าจะหายไปประมาณ 150,000-400,000 คน โดยเฉลี่ยผลกระทบของไทยจะอยู่ที่ประมาณ 10,000-22,000 ล้านบาท กระทบ GDP ประมาณ 0.1% ถือว่าไม่หนัก
นายวิเชียร กล่าวถึงผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของรัฐบาล ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่า จะมีผลทำให้มูลค่าการส่งออกรวมของไทยลดลงประมาณ 359,104 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ -1.93% ของ GDP โดยมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนี้
1. ผลกระทบทางตรง:
- ส่งออกสินค้าจากไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ การขึ้นภาษีสินค้าไทยเป็น 36% อาจทำให้การส่งออกของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ลดลง 8,703 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 300,237 ล้านบาท) โดยกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คืออุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (2,014 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 69,492 ล้านบาท) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (1,378 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 47,533 ล้านบาท) และอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม 1,010 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 34,843 ล้านบาท)
2. ผลกระทบทางอ้อม:
- การส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานจีน-สหรัฐฯ: การขึ้นภาษีสินค้าจีนเป็น 54% อาจทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบที่เชื่อมโยงกับจีนประมาณ 1,103 ล้านดอลลาร์ฯ (38,063 ล้านบาท)
- การส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานสหรัฐฯ-จีน: เมื่อจีนได้มีการตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก 10-15% วัตถุดิบไทยที่เชื่อมโยงกับการส่งออกของสหรัฐฯ ไปจีนลดลงประมาณ 16 ล้านดอลลาร์ฯ (552 ล้านบาท)
- การส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานเม็กซิโก-สหรัฐฯ: การขึ้นภาษีสินค้าเม็กซิโกอีก 25% อาจทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบที่เชื่อมโยงกับเม็กซิโกประมาณ 420 ล้านดอลลาร์ฯ (14,490 ล้านบาท)
- การส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานแคนาดา-สหรัฐฯ: การขึ้นภาษีสินค้าของแคนาดาอีก 25% สำหรับสินค้าทั่วไป และ 10% สำหรับสินค้ากลุ่มพลังงาน อาจทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบที่เชื่อมโยงกับแคนาดาประมาณ 76 ล้านดอลลาร์ฯ (2,662 ล้านบาท)
- การส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานสหรัฐฯ-แคนาดา: เมื่อแคนาดามีการตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก 25% วัตถุดิบไทยที่เชื่อมโยงกับการส่งออกของสหรัฐฯ ไปแคนาดาอาจลดลงประมาณ 91 ล้านดอลลาร์ฯ (3,140 ล้านบาท)
ด้าน นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่งการที่ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีไทยที่ 36% และทั้งโลกยังโดนเก็บภาษีในอัตราเฉลี่ย 10% ถือว่ามากกว่าคาด ทำให้ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อไทยมีมากขึ้น และมองว่าผลกระทบครั้งนี้อยู่ในระดับสูง หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเจรจากับสหรัฐฯ อย่างไร รัฐบาลต้องดูผลกระทบรอบด้าน ซึ่งการเจรจาครั้งนี้ไทยอาจจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น เพื่อปกป้องประโยชน์ส่วนรวม รัฐและเอกชนต้องพูดคุยกัน และดูถึงผลกระทบต่อประชาชนด้วย
ทั้งนี้ เน้นย้ำว่าการลดผลกระทบเป็นสิ่งสำคัญมาก และความเสียหายทางเศรษฐกิจที่อาจทำให้เงินหายไปประมาณ 200,000-350,000 ล้านบาท มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ถ้าจำเป็นต้องใช้ จะต้องมีสเกลที่ใหญ่เพื่อประคองเศรษฐกิจไทยไม่ให้รับผลกระทบในวงกว้าง ดังนั้น การใช้เงินของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรทำให้เกิดการจ้างงาน การลงทุน และเงินสะพัด และควรใช้มาตรการทางการเงินผสมผสาน เติมสภาพคล่องของธุรกิจที่เริ่มมีปัญหาจากการค้าขาย ส่งออกที่อาจถดถอยลง
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ในภาพรวมประเมินว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหว และมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 374,851.8 ล้านบาท คิดเป็น 2.02% ของ GDP
"ขอดูผลกระทบของทั้งเดือนนี้ก่อนว่า ภาพของเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร แล้วค่อยปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ" นายธนวรรธน์ กล่าว