เปิดลิสต์ 15 อันดับสินค้าไทยมาตรการภาษีสหรัฐฯ กระทบหนัก!! ลุ้นยังมีเวลาเจรจาต่อรอง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 3, 2025 13:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีตอบโต้ไทย 36-37% ว่า ถือเป็นอัตราที่สูงมากเกินความคาดหมาย แต่ไม่ต้องห่วงเพราะไทยมีคณะทำงานที่เตรียมความพร้อมในการเจรจากับสหรัฐฯ ไว้แล้ว และมีความหวังว่าเราจะสามารถเจรจาต่อรองเพื่อให้สหรัฐฯ ลดภาษีลงได้ ส่วนจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ปีนี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ 3% หรือไม่ ขณะนี้ยังบอกไม่ได้

"ไทยพร้อมเจรจาตลอดเวลา รอแค่ว่าสหรัฐฯ จะรับนัดเมื่อไร แต่การขึ้นภาษีครั้งนี้ ทุกประเทศได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด แต่เราจะเจรจาให้สหรัฐฯ ลดภาษีให้ และมีความหวังว่าจะสำเร็จ" นายพิชัย กล่าว

ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ถือว่าเกินความคาดหมายสำหรับไทย แต่ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ยังมีเวลาที่ไทยจะเจรจาต่อรองได้ โดยไทยพร้อมที่จะเจรจาทุกเมื่อ รอเพียงให้สหรัฐฯ นัดมา ถ้าเดินทางไปไม่ทันก็จะมีทีมไทยแลนด์ที่เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.เป็นหัวหน้าคณะ แต่หากมีเวลาเดินทางไป รมว.พาณิชย์จะเป็นหัวหน้าคณะเจรจา *หากเก็บภาษี 36% สร้างความเสียกายกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญฯ

ก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่า ถ้าสหรัฐฯ ขึ้นภาษีไทย 11% จะทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ 7,000-8,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 1 ปี แต่ขณะนี้สูงถึง 36% ก็อาจเสียหายใกล้เคียง 30,000 ล้านดอลลาร์หากไทยไม่ทำอะไรเลย แต่ถ้าเจรจาต่อรองแล้วเป็นผลสำเร็จก็อาจไม่เกิดความเสียหาย หรือเสียหายลดลง ส่วนจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยที่ปีนี้ตั้งเป้าหมายขยายตัว 2-3% หรือไม่นั้นต้องคำนวณอีกครั้ง

*เปิด 15 อันดับสินค้าส่งออกสหรัฐ มูลค่าสูง

สำหรับสินค้าที่จะได้รับผลกระทบมากนั้นจะเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่าสูง ๆ โดย 15 สินค้าแรกที่ส่งออกไปสหรัฐฯ มาก ได้แก่ 1.โทรศัพท์มือถือ 2.ชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์ 3.ยางรถยนต์ 4.เซมิคอนดักเตอร์ 5.หม้อแปลงไฟฟ้า 6.ชิ้นส่วนอุปกรณ์การพิมพ์ 7.ชิ้นส่วนรถยนต์ 8.อัญมณี 9.เครื่องปรับอากาศ 10.กล้องถ่ายรูป 11.เครื่องปริ้นเตอร์ 12.วัตถุดิบอาหารสัตว์ 13.แผงวงจรอิเลกทรอนิกส์ 14.ข้าว และ 15.ตู้เย็น

*เปิด 3 แนวทางต่อรอง

ส่วนแนวทางการเจรจาต่อรองที่เตรียมการไว้นั้น

1.ไทยจะลดภาษีสินค้านำเข้าบางรายการให้กับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าอยู่แล้ว แต่นำเข้าจากแหล่งอื่น เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง รวมถึงเพิ่มการลงทุนด้านพลังงานในสหรัฐฯ

2.เพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าที่ยังไม่เคยนำเข้าจากสหรัฐฯ

3.ลดเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าของสหรัฐฯ

"มั่นใจว่าจะเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ ได้ ทุกอย่างเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ไม่ใช่แค่การเจรจาด้านการค้าสินค้าเท่านั้น แต่จะทำทุกมิติ ทั้งการค้าบริการที่สหรัฐฯ ได้ดุลไทยจำนวนมาก การลงทุน ความมั่นคง การทหาร การเป็นพันธมิตรที่ดี หรือแม้แต่ภูมิรัฐศาสตร์" นายวุฒิไกร กล่าว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ โดยช่วงบ่ายวันนี้จะหารือกับนายพิชัย ชุณหชวิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เช่น อาจตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือ หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยจะกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย และมีการส่งออกไปสหรัฐฯ

สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่า อาจจะมีสินค้าจากหลายประเทศที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ได้และส่งมาทุ่มตลาดในไทยและอาเซียนนั้น กระทรวงพาณิชย์มีคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยมี รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ซึ่งทำงานล่วงหน้ามาหลายเดือนแล้ว และเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น มีการนำเข้าสินค้าทางออนไลน์ลดลง มีตัวเลขการปราบปรามสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้น มูลค่าความเสียหายของสินค้าไร้มาตรฐานที่จับกุมได้มากขึ้น อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์ยังมีมาตรการที่จะใช้ดำเนินการกับสินค้านำเข้า ทั้งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) มาตรการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอซี) รวมถึงได้ขึ้นบัญชีสินค้าเสี่ยงที่จะสวมสิทธิประเทศไทยส่งออกไปสหรัฐ 49 รายการไว้แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ