"ทรัมป์"ขึ้นภาษีนำเข้าสูงสุดในรอบ 100 ปี ! ทิสโก้คาดกดดัน ศก.สหรัฐชะลอ-ฉุด GDP ไทยโตแค่ 1.45%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 3, 2025 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) ประเมินการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสูงสุดในรอบกว่า 100 ปี ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวชัดเจนเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยอาจโตต่ำเพียง 1.45% และอาจปรับลงอีกหากต้องเจรจาต่อรอง

ด้านกลยุทธ์ลงทุนแนะทยอยซื้อ 6 สินทรัพย์รับดอกเบี้ยขาลง หุ้นในประเทศที่มีสัดส่วนส่งออกไปสหรัฐฯ ต่อ GDP น้อย และราคาสินทรัพย์ที่สนใจ ได้แก่ ตราสารหนี้โลก Global REITs หุ้นอินเดีย ญี่ปุ่น จีน และไทย

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์ TISCO ESU กล่าวว่า สหรัฐขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากหลายประเทศ นับเป็นมาตรการที่เข้มงวดที่สุดในรอบกว่า 100 ปี เพื่อปกป้องเศรษฐกิจและลดขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้เกือบ 60 ประเทศเผชิญกับอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน ยกเว้นสินค้าบางประเภท เช่น พลังงาน เซมิคอนดักเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยา และทอง ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ถูกตอบโต้โดยตรงก็เผชิญอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น 10% โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เม.ย.นี้

จากอัตราภาษีศุลกากรที่ปรับเพิ่มขึ้นมากนี้ โดยเฉพาะ Reciprocal Tariffs ทาง TISCO ESU มองว่า จะส่งผลให้อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยที่สหรัฐฯ จัดเก็บกับคู่ค้าปรับขึ้นราว 14 จุด (Percentage Point (ppt)) และหากรวมกับการตั้งภาษีนำเข้ายานยนต์ อัตราภาษีเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นราว 16 จุด ซึ่งก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เคยประเมินว่า ทุก 1 จุดที่อัตราภาษีเฉลี่ยปรับขึ้น จะกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจราว -0.14 จุด ดังนั้น หากมีการปรับขึ้นอัตราภาษีตามที่ประกาศนี้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงชัดเจน และมีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession Risks) เพิ่มขึ้นมาก

ผลกระทบต่อตลาดเงิน การขึ้นภาษีดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) ระยะ 10 ปี ปรับลดลงต่ำกว่า 4.1% ขณะเดียวกัน Fed Funds Futures มองเฟดจะลดดอกเบี้ยมากขึ้นเป็น 3.2 ครั้ง หรือลดลง 0.81% ในปีนี้ ขณะที่ตลาดซื้อขายล่วงหน้า ดัชนีหุ้นหลักของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงหนัก โดยดาวโจนส์ลดลง 1.9%, S&P500 ลดลง 2.7%, และ Nasdaq ลดลงกว่า 3.3% ส่วนราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลงต่ำกว่า 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สะท้อนภาวะเสี่ยงสูง (Risk-off) เป็นวงกว้าง ขณะที่ราคาทองคำยังทรงตัวอยู่ใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3,150 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อทรอยออนซ์

"เรามองว่า Sentiment ลบในภาพรวมมีแนวโน้มดำเนินต่อไปจนกว่าจะเห็นแนวโน้มการเจรจาผ่อนผันข้อบังคับระหว่างประเทศมากขึ้น ด้าน Sector ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มองว่าเผชิญแรงกดดันหนักจะเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศสูงที่เสี่ยงต่อการถูกโต้ตอบกลับ อาทิ วัสดุอุตสาหกรรม, เทคโนโลยี และ การสื่อสาร" นายคมศร กล่าว

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จากอัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯ ประกาศกับไทยที่ 36% TISCO ESU ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมากที่ราว 1.35 จุด จากปัจจุบันที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.8% จะเหลือเพียง 1.45% โดยยังไม่นับรวมผลของมาตรการที่รัฐบาลจำเป็นต้องบังคับใช้เพื่อประโยชน์ต่อการเจรจาต่อรอง เช่น 1. การลดการกีดกันทางการค้า (Non-tariff Barrier) และเปิดเสรีให้กับสินค้าเกษตรสหรัฐฯ มากขึ้น 2. การเพิ่มโควต้านำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ของหลายประเทศ อาจส่งผลให้สินค้าไทยที่คล้ายคลึงกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรถูกลดการนำเข้าจากตลาดในต่างประเทศลง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้น และส่งผลกับเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า อาทิ แนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติที่อาจลดลง เนื่องจากอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ทำให้การตัดสินใจย้ายฐานการผลิตทำได้ยากขึ้น และประเด็นสุดท้าย มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง รวม 0.50% ในการประชุมรอบที่ 2/2025 ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ 1 ครั้ง และอีก 1 ครั้งในช่วงครึ่งหลัง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจลดลงเหลือ 1.50% ภายในสิ้นปีนี้

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจจีน จากอัตราภาษี Reciprocal Tariff ที่ 34% บวกอัตราภาษีเดิมที่ 20% ทำให้จีนต้องเผชิญอัตราภาษีรวมกว่า 54% ซึ่งคาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจจีนราว 1.5-2.0 จุด ทั้งจากผลกระทบทางตรงผ่านช่องทางการส่งออก และผลกระทบทางอ้อมผ่านความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ตลอดจนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคที่มีแนวโน้มลดลง และอาจจะกระทบต่อการลงทุนในประเทศของภาคธุรกิจในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม คาดว่ารัฐบาลจีนจะมีมาตรการบรรเทาผลกระทบผ่านการใช้นโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงอาจมีมาตรการตอบโต้ต่อสหรัฐฯ ผ่านทั้งมาตรการด้านภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff measures) เช่น การควบคุมการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังสหรัฐฯ การดำเนินการกับบริษัทสหรัฐฯ หรือการจำกัดการลงทุนของบริษัทจีนในสหรัฐฯ เป็นต้น

นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ Head of Wealth Advisory ธนาคารทิสโก้ แนะกลยุทธ์การลงทุนว่า จากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ คาดว่าหลังจากนี้ธนาคารกลางทั่วโลกมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เพื่อรองรับกับเศรษฐกิจโดยรวมที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จึงส่งผลดีต่อราคาตราสารหนี้โลก และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โลก (Global REITs) ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้

สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงสูงได้ธนาคารทิสโก้แนะนำให้ทยอยซื้อ หุ้นอินเดีย หุ้นญี่ปุ่น และหุ้นจีน เพราะมูลค่าหุ้น (Valuation) เริ่มน่าสนใจ เศรษฐกิจเติบโตจากการบริโภคในประเทศที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง และมีสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯ ต่ำ เมื่อเทียบกับ GDP ของแต่ละประเทศ

"ปัจจุบันอินเดียมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ อยู่ที่ 2.4% ของ GDP ส่วนญี่ปุ่นมีสัดส่วนส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ อยู่ที่ 3.6% ของ GDP และประเทศจีนมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เพียง 2% ของ GDP ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับประเทศแคนนาดาที่มีสัดส่วนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่ 19.4% ของ GDP และเม็กซิโก้มีสัดส่วนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่ 25.6% ของ GDP นอกจากนี้ ในด้านราคาหุ้นอินเดีย ญี่ปุ่น และจีนยังน่าสนใจ โดยปัจจุบันหุ้นอินเดียมี Forward P/E อยู่ที่ 19.3 เท่า ต่ำกว่าเฉลี่ย 5 ปีที่อยู่ที่อยู่ในระดับ 20.20 เท่า หุ้นญี่ปุ่นมี Forward P/E อยู่ที่ 17.5 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่อยู่ในระดับ 19.1 เท่า และหุ้นจีนมี Forward P/E อยู่ที่ 11.2 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่อยู่ในระดับ 11.5 เท่า" นายณัฐกฤติกล่าว

ดังนั้น ธนาคารทิสโก้แนะนำลูกค้าใช้จังหวะที่หุ้นย่อตัว ทยอยลงทุนในตราสารหนี้โลก ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โลก (Global REITs) หุ้นอินเดีย ญี่ปุ่น และ จีน นอกจากนี้ ยังเป็นจังหวะทยอยสะสมหุ้นไทยเพิ่ม เพราะมูลค่าปัจจุบันต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง และลงมาอยู่เท่าช่วงวิกฤติ COVID-19 แล้ว โดย Forward P/E อยู่ที่ 12.3 เท่า ขณะที่ช่วง COVID-19 อยู่ที่ 12.9 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ