ทีมนโยบายเศรษฐกิจพรรคประชาชน นำโดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค กล่าวถึงผลกระทบกรณีนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกาว่า ผลกระทบต่อจีดีพีไทยในปี 2568 ขึ้นอยู่กับผลของการเจรจา จึงขอให้รัฐบาลใช้การเจรจาอย่างเร่งด่วนและรัดกุม เพราะหากไม่ทำอะไรเลยหรือการเจรจาไม่เป็นผล จะกระทบกับมูลค่าส่งออกรวมมากกว่า 1% ทำให้จีดีพีอาจหดตัวมากกว่า 1% จนต่ำกว่าเป้า 2% ได้
หากสามารถเจรจาลดภาษีลงมาได้เหลือ 25% จีดีพีจะลดลง 0.8% แต่ถ้าสามารถเจรจาลดภาษีลงมาได้ที่ขั้นต่ำสุดที่ทรัมป์ประกาศ 10% จีดีพีจะลดลงราว 0.3%
สำหรับกลุ่มสินค้าคาดว่า สินค้าที่จะได้รับผลกระทบหนักคืออุปกรณ์สื่อสาร ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ยางล้อ เครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้า อย่างไรก็ดี มิใช่เพียงภาคส่งออกเท่านั้น แต่การลงทุนของบริษัทต่าง ๆ ก็จะหยุดชะงักด้วย เพื่อรอให้ฝุ่นหายตลบถึงจะตัดสินใจลงทุนกันครั้งใหม่
น.ส.ศิริกัญญา มองว่า การที่จะรับมือกับเรื่องนี้ ต้องเข้าใจเป้าประสงค์ของสหรัฐฯ 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1. ไม่ใช่แค่เรื่องของการที่จะทำให้การขาดดุลทางการค้าระหว่างประเทศอื่น ๆ ลดลง 2. ทรัมป์เองยังต้องการรายได้เข้ารัฐเพิ่มเติมเพื่อไปชดเชยกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลของสหรัฐฯ ที่มีแผนการจะปรับลดลงด้วย และ 3. มีการตั้งเป้าว่าต้องการให้นักลงทุนของสหรัฐฯ ย้ายฐานการผลิตกลับประเทศของตัวเอง
เรื่องแรกที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน คือต้องมีการเรียกร้องให้มีการทบทวนตัวเลขที่สหรัฐฯ ระบุว่า เราจัดเก็บภาษีของสหรัฐฯ อยู่ที่ 72% โดยเร่งด่วน และต้องมีการขอร้องให้ทบทวนว่า อาจจะไม่ใช่ตัวเลขแบบนี้ก็ได้ เนื่องจากหากไปดูเรื่องดุลบริการต่าง ๆ อาจจะทำให้ตัวเลขการขาดดุลการค้าที่ไม่ได้ดูเฉพาะสินค้าลดลงมาได้
น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่า อยากให้มีการเปิดเป็นญัตติด่วนในวันที่ 9 เม.ย. ที่จะถึงนี้ แต่คงจะต้องสู้รบปรบมือกับทางฟากฝั่งของรัฐบาล เนื่องจากอย่างที่ทราบกันดีว่า ตอนนี้กำลังจะมีการเลื่อนวาระเพื่อที่จะนำร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เข้ามาสู่การพิจารณา แต่เราคิดว่าเรื่องนี้เป็นเร่งด่วนกว่ามาก เพราะผลกระทบที่เกิดกับไทยนั้นรุนแรงกว้างขวางมาก
ดังนั้น หากเราจะนำเข้าให้เร็วที่สุด ก็คงจะต้องมีการประสานการทำงานกับคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เช่นเดียวกัน แต่ถ้าไม่ได้ ก็คิดว่าทางคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ก็คงจะรับเรื่องนี้ไปพิจารณากันต่อ
ด้านนายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวว่า ในปีนี้เมื่อเราเจอศึกนอก หรือปัจจัยภายนอกอย่างกำแพงภาษีขึ้นไปอีก จะยิ่งทำให้เหนื่อยกว่าเดิม ส่งผลต่อภาคการผลิต และการจ้างงาน เพราะสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักในการส่งออก หรือเรียกว่าเกือบ 1 ใน 5 ของการส่งออกไทย
- ผลทางตรง ได้แก่ กลุ่มสินค้าที่พึ่งตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก คือ คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางรถยนต์ กลุ่มนี้จะได้รับผลรุนแรงรวดเร็ว เพราะเราส่งออกไปสหรัฐฯ รวมแล้ว 55,000 ล้านเหรียญ คิดเป็น 19% ของการส่งออกทั้งหมด และเกินดุลกับสหรัฐฯ ถึง 45,600 ล้านเหรียญ แม้การขยายตัวของการส่งออกช่วงไตรมาสแรกปีนี้ค่อนข้างดี เพราะบริษัทส่วนใหญ่เร่งส่งออกสินค้าไปสต็อกไว้ที่สหรัฐฯ ก่อน หนีความไม่แน่นอนของนโยบายกำแพงภาษี ของจริงจะเกิดขึ้นนับจากวันนี้เป็นต้นไป
- ผลทางอ้อม 3 ชั้นที่ไม่ควรมองข้าม
ชั้นที่ 1 สินค้าที่ส่งไปยังประเทศที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษี เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ไทยส่งออกไปเม็กซิโก เพื่อประกอบส่งเข้าสหรัฐฯ อีกทีก็มีมูลค่าหลักหมื่นล้านบาท
ชั้นที่สอง การแข่งขันรุนแรงขึ้นในตลาดประเทศอื่น ๆ จากการที่ผู้ส่งออกหนีจากตลาดสหรัฐฯ เช่น ในตลาดประเทศออสเตรเลีย ก็มีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เข้ามาชิงส่วนแบ่งของไทย
ชั้นที่สาม คือ สินค้าขั้นกลางอย่างยางพาราและเม็ดพลาสติก ที่ไทยส่งออกไปจีนเพื่อเข้าตลาดสหรัฐฯ ยอดตรงนี้ก็จะตกลงไปด้วย
นายวีระยุทธ ยืนยันว่าจะต้องมีการเจรจาอย่างมียุทธศาสตร์ "อย่าให้ทีเดียวหมด เก็บไพ่ในมือไว้ปล่อยทีละใบ" ถ้าดูจากรายงานของสำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐ (USTR) มองว่า ไทยมีปัญหากีดกันทางการค้าใน 4 ข้อ
ดังนั้น จึงควรนำสิ่งนี้มาเป็นประโยชน์ในการเจรจาต่อรอง โดย 1. ไทยเคยกีดกันสินค้าจากสหรัฐฯ กว่า 166 รายการ เช่น สารเร่งเนื้อแดงในเนื้อสัตว์ มีข้อกำหนดเรื่องสุขอนามัย มีโควตาการนำเข้าหลายอย่าง 2. ไทยมีเรื่องสินค้าปลอมแปลงลิขสิทธิ์ และละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา 3. ไทยมีข้อจำกัดเรื่องการลงทุนในหลาย ๆ ธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งจำกัดผู้ถือหุ้นต่างชาติเอาไว้ และ 4. ไทยมีปัญหาเรื่องสิทธิแรงงานที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีสหภาพแรงงาน หรือกฎหมายไม่ค่อยยอมรับ
ข้อเสนอคือไทยควรมองให้ 4 ข้อข้างต้นเป็นไพ่ในการต่อรอง ไพ่แต่ละใบไม่เหมือนกัน และที่สำคัญคือ เราไม่ควรจะไพ่ในครั้งเดียวทั้งหมด แต่ควรนำมาจัดอันดับความสำคัญ ค่อย ๆ ทิ้งไพ่อย่างมียุทธศาสตร์ ทั้งยังมีเรื่องดุลบริการที่สหรัฐฯ ได้เปรียบไทย ก็ควรจะเอาไปต่อรองเจรจาให้เห็นด้วยเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ นายวีระยุทธ เรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลสำหรับผู้ที่จะได้และผู้ที่จะเสียประโยชน์ จากการที่เราเอาอะไรไปต่อรองเข้าสู่สาธารณะให้ชัดเจน พร้อมทั้งเยียวยารับมือกับผู้ที่จะเสียผลประโยชน์ ขณะเดียวกัน ต้องเจรจาแยกแต่ละประเทศ เพราะมีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน
"อยากชวนให้ฝ่ายยุทธศาสตร์ของเรา คิดถึงมาตรการในอนาคต ที่ไม่ได้มีแค่จีนกับอเมริกาไว้ด้วย เพราะในอีก 2-3 ปีข้างหน้า สงครามการค้าเพิ่มขึ้นแน่นอน เราต้องพยายามคิดแผนซัพพลายเชนใหม่ทั้งหมดในระยะยาว และใช้ข้อได้เปรียบจากพื้นที่สงครามการค้าตรงนี้มาเป็นส่วนประกอบที่เป็นประโยชน์กับเรา หรือจะทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนใหม่ของเราได้อย่างไร" นายวีระยุทธ กล่าว
ด้าน นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีสินค้าจีนล้นตลาดมากกว่าเดิมว่า เรื่องสำคัญมาก และจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมรับมือ เพราะครั้งนี้ไม่เหมือนกับครั้งแรกที่เงินหยวนอ่อนค่าลง หากไม่ทำอะไร ประเทศไทยจะขาดดุลมากขึ้น และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่เสี่ยงก็มักจะเป็นพวกรายเล็กรายน้อย อย่าง SMEs ที่ปัจจุบันก็ค้าขายยากอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่รัฐบาลควรต้องเตรียมการช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก เหล็ก และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเด็ก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะโดนผลกระทบจากการแข่งขันอย่างรุนแรงในปีนี้