
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนมี.ค.68 อยู่ที่ระดับ 100.35 หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้น 0.84% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่ตลาดคาดว่าเงินเฟ้อมี.ค. จะอยู่ที่ 1.00-1.10%
โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ อาหารสำเร็จรูป และน้ำมันดีเซล ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยอยู่ที่ 1.08% ต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้เล็กน้อย

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนมี.ค.68 สูงขึ้น 0.86% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานช่วงไตรมาสแรก เฉลี่ยอยู่ที่ 0.89%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ เตรียมพิจารณาปรับลดเป้าหมายเงินเฟ้อในปีนี้ลงอีกเล็กน้อย จากกรอบเดิมที่วางไว้ 0.3-1.3% ซึ่งเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรก ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย นอกจากนี้ ยังมีผลจากนโยบายที่สหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทยในอัตราสูงถึง 37%
"จากเงินเฟ้อไตรมาสแรกที่ออกมา 1.08% ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 1.13% รวมทั้งมาตรการภาษีของทรัมป์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อไทย จึงทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อทั้งปี มีโอกาสจะต่ำกว่าเป้าเดิมที่วางไว้ แต่คงไม่มาก เราขอพิจารณาข้อมูลในรายละเอียดอีกครั้ง คาดกว่าจะแถลงตัวเลขใหม่ในรอบหน้า" ผู้อำนวยการ สนค. ระบุ
อย่างไรก็ดี จากผลกระทบดังกล่าวที่เกิดขึ้น เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในแต่ละไตรมาสที่เหลือของปีนี้ จะไม่ลงไปถึงระดับติดลบ ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 2 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสแรกเล็กน้อย
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศนั้น จากข้อมูลล่าสุดเดือนก.พ.68 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 22 จาก 130 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8 ประเทศ ที่มีการประกาศตัวเลข (อินโดนีเซีย, บรูไน, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, ลาว และไทย)
โดยในเดือนมี.ค.68 พบว่า มีสินค้าและบริการสำคัญ ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.67 รวม 289 รายการ ได้แก่ ข้าวสารเจ้า, ข้าวสารเหนียว, เนื้อสุกร, ผักบุ้ง, น้ำมันพืช, กาแฟผงสำเร็จรูป, น้ำอัดลม และน้ำมันดีเซล เป็นต้น
ส่วนสินค้าและบริการสำคัญ ที่ราคาปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน รวม 121 รายการ ได้แก่ ไข่ไก่, มะนาว, พริกสด, ผักกาดขาว, น้ำดื่มบริสุทธิ์, ผลิตภัณฑ์ซักผ้า, สบู่, แชมพู และแก๊สโซฮอล์ เป็นต้น ขณะที่สินค้าและบริการสำคัญ ที่ราคาไม่มีการเปลี่ยนแปลง รวม 54 รายการ เช่น ค่าบริการขนขยะ, ค่าน้ำประปา, ค่าโดยสารรถประจำทาง-เรือ และค่าบริการตรวจสภาพรถ เป็นต้น
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 2/68 ผู้อำนวยการ สนค. คาดว่าจะปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ 1 มาอยู่ที่ 0.14-0.15% จากเดิมคาดไว้ที่ 0.1-0.2% เนื่องจาก 1. ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง 2. ฐานราคาผักสด และไข่ไก่ในปีก่อนหน้าอยู่ในระดับสูง ขณะที่ในปีนี้ สภาพอากาศเอื้ออำนวยมากกว่า จึงส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ระบบมากขึ้น 3. การลดลงของราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลก โดยราคาในปีนี้ต่ำกว่าปีก่อนหน้า จึงส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ภายในประเทศปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกัน และ 4. การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
"ราคาน้ำมันในไตรมาส 2 จะมีผลค่อนข้างมาก (ผลต่อเงินเฟ้อ) ทั้งเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล ซึ่งน้ำมันทั้ง 3 ชนิดนี้ ราคาต่ำกว่าไตรมาส 2 ของปีก่อน" นายพูนพงษ์ ระบุ
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นได้ ได้แก่ 1.วัตถุดิบต้นน้ำของสินค้าเกษตรบางชนิด ราคายังอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะพืชสวน เช่น มะพร้าว กาแฟ และปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้น ทั้งกะทิ กาแฟ และน้ำมันพืช 2. อาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะอาหารพร้อมทาน ราคายังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากมีการปรับราคาตามต้นทุนวัตถุดิบบางชนิดที่สูงขึ้น