เปิดฉากประชุม BIMSTEC 7 ปท. ร่วมพัฒนาความเชื่อมโยงเศรษฐกิจ-ภัยพิบัติ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 4, 2025 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เปิดฉากประชุม BIMSTEC 7 ปท. ร่วมพัฒนาความเชื่อมโยงเศรษฐกิจ-ภัยพิบัติ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ครั้งที่ 6 พร้อมผู้นำและผู้แทนสมาชิก BIMSTEC จากอินเดีย เนปาล ภูฏาน ศรีลังกา เมียนมา บังกลาเทศ

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวต้อนรับผู้นำและผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิก โดยเป็นความภาคภูมิใจของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม หลังจากที่ไม่ได้จัดการประชุมแบบพบหน้ากันมาเป็นเวลากว่า 7 ปี ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ และหารือแนวทางในการเสริมสร้างความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ในกลุ่มสมาชิก BIMSTEC

ทั้งนี้ BIMSTEC เป็นกลุ่มประเทศที่มีประชากรรวมกันกว่า 1,800 ล้านคน หรือคิดเป็น 22% ของประชากรโลก และมี GDP รวมกันประมาณ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ความร่วมมือนี้ ถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนในอนาคต

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอประเด็น "วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030" ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือ ที่จะนำประเทศสมาชิก BIMSTEC ไปสู่อนาคตที่มีความเจริญรุ่งเรือง ยืดหยุ่น และเปิดกว้าง วิสัยทัศน์นี้ถูกออกแบบเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ส่งเสริมความเชื่อมโยง และการเสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับปัญหาระดับโลก

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ศักยภาพทางเศรษฐกิจของ BIMSTEC ด้วยจำนวนประชากร รวมกันเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรโลก การค้าภายใน BIMSTEC อยู่ที่ประมาณ 6% จึงเสนอให้สมาชิกเร่งผลักดันการจัดทำ BIMSTEC FTA ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจ การค้า

นอกจากนี้ การลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล จะเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าทางทะเลที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะที่โครงการแลนด์บริดจ์ของไทย จะช่วยเสริมการเชื่อมโยงระหว่างอ่าวไทยกับอ่าวเบงกอลด้วย

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมุ่งมั่นร่วมมือกับทุกฝ่าย เพื่อเร่งรัดการก่อสร้างทางหลวงสำคัญระหว่างประเทศที่จะเชื่อมโยงประเทศไทย ไปยังเมียนมาจนถึงอินเดียให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ได้ส่งผลกระทบต่อความคืบหน้าของโครงการนี้ นอกจากนี้ สันติภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัยและเสถียรภาพตามเส้นทางดังกล่าว ยังมีความสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการ ซึ่งไทยพร้อมทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกเพื่อเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้

นอกจากนี้ BIMSTEC จำเป็นต้องเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และความสามารถทางเทคโนโลยี โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI และการเชื่อมต่อทางดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาเร่งด่วน และเตรียมความพร้อมของภูมิภาคในการรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต

ด้านความยืดหยุ่น ความท้าทายระดับโลก เช่น มลพิษทางอากาศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาด ทำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของระบบสาธารณสุข และห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้ ไทยได้เสนอจัดตั้ง "ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์เขตร้อน" ของ BIMSTEC

สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหว สะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อจัดการภัยพิบัติในกลุ่ม BIMSTEC ซึ่งไทยสนับสนุนข้อเสนอของอินเดียในการจัดตั้ง "ศูนย์จัดการภัยพิบัติ BIMSTEC" เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนองต่อภัยธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบเตือนภัย พร้อมสนับสนุนการจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านความร่วมมือการจัดการภัยพิบัติของ BIMSTEC ครั้งที่ 2 เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นต่อภัยธรรมชาติ

โอกาสนี้ ไทยยังเน้นย้ำถึงการแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด และอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยขอความร่วมมือจากประเทศสมาชิกในการดำเนินการตามอนุสัญญา BIMSTEC ว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และการค้ายาเสพติด เพื่อยกระดับความมั่นคงในภูมิภาค และความยืดหยุ่นพร้อมต่อการตอบสนองต่อภัยพัติ

นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาค SMEs จะมีบทบาทสำคัญในอนาคตของ BIMSTEC โดยประเทศไทยได้เสนอจัดตั้งสภาที่ปรึกษาธุรกิจ BIMSTEC (BIMSTEC Business Advisory Council) เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างภาคธุรกิจ สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ และเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในระยะยาว

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนใน BIMSTEC โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในภูมิภาค การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงสถานที่สำคัญระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจร่วมกัน และเน้นย้ำถึงบทบาทของ BIMSTEC ในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน โดยประเทศไทยในฐานะประธานปัจจุบันของกรอบ Asia Cooperation Dialogue (ACD) มุ่งมั่นที่จะสร้างความร่วมมือระหว่าง BIMSTEC กับเวทีระหว่างประเทศอื่น ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สันติภาพ และเสถียรภาพในภูมิภาค

ในช่วงท้าย ที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันรับรองปฏิญญาการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 รวมถึงมีการประกาศให้บังกลาเทศเป็นประธาน BIMSTEC ลำดับถัดไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ