ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า (8-11 เม.ย.) ที่ระดับ 33.60-34.50 บาท/ดอลลาร์ จากปิดตลาดในวันศุกร์ที่ 4 เม.ย. ที่ 34.18 บาท/ดอลลาร์
โดยในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยตามสัญญาณเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทย ประกอบกับยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมต่อเนื่องจากการปรับขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก และการแข็งค่าของสกุลเงินในภูมิภาค สวนทางเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีการค้า
อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกอ่อนค่ามาแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือนครึ่งที่ 34.44 บาท/ดอลลาร์ ท่ามกลางบรรยากาศตลาดการเงินในฝั่งเอเชียที่พลิกกลับมาเป็น Risk-Off หลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศภาษีตอบโต้ทางการค้ากับหลายประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ (Reciprocal Tariffs) ซึ่งโดยรวมมีความรุนแรงมากกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ และทำให้เกิดความกังวลว่า สถานการณ์ของสงครามการค้าที่อาจตึงเครียดมากขึ้นจะมีผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ผลของการปรับขึ้น Reciprocal Tariffs ของสหรัฐฯ ยังสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินทั่วโลก รวมถึงค่าเงินดอลลาร์จนถึงช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วน สวนทางเงินดอลลาร์ที่กลับมาเผชิญแรงขายอย่างหนัก พร้อม ๆ กับการร่วงลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการปรับขึ้นภาษีการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ และการคาดการณ์เรื่องการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งตลาดเริ่มให้น้ำหนักว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยมากกว่าที่สื่อสารไว้ใน dot plot เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงมากขึ้นที่อาจเผชิญกับภาวะถดถอย
สำหรับสัปดาห์หน้าปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ของสงครามการค้า (หลังจีนประกาศเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าที่มาจากสหรัฐฯ มีผล 10 เม.ย.) ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก และสัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. รายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 18-19 มี.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. ของจีนด้วยเช่นกัน