รัฐบาลไม่ช้า! "ศุภวุฒิ" ชี้หารือทรัมป์ต้อง "รู้เขา รู้เรา" เล็งเปิดเจรจาลดภาษีนำเข้า-เพิ่มลงทุนไทยในสหรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 7, 2025 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รัฐบาลไม่ช้า!

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการเจรจานโยบายการค้ากับสหรัฐอเมริกา โดยให้ข้อมูลแนวทางการเจรจา และยุทธศาสตร์ที่เตรียมไว้ เพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากความสามารถในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารของประเทศ ว่า วัตถุประสงค์หลักในการปรับเพิ่มภาษีของสหรัฐอเมริกามี 3 ข้อ คือ 1. เพื่อลดการถูกเอาเปรียบจากการขาดดุลทางการค้า และสร้างสมดุลทางการค้าให้กับสหรัฐอเมริกา 2. เพื่อนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษี ไปลดภาระการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ เพื่อขยายเวลาการลดภาษีให้คนรวยในสหรัฐฯ และ 3. เพื่อดึงผู้ประกอบการและกลุ่มบริษัทของสหรัฐฯ ให้ย้ายฐานการผลิตกลับไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ดังนั้น การดำเนินการรีบเร่งเจรจาเหมือนประเทศอื่น ๆ อาจไม่ส่งผลดีกับประเทศนั้น ๆ นัก เนื่องจากไม่สามารถทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของแนวทางการขึ้นภาษีของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ อาทิ ประเทศแคนาดา และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ แม้ว่าทั้ง 2 ประเทศได้เร่งดำเนินการเจรจาไปก่อนหน้า หรือแม้แต่สหราชอาณาจักร ที่ขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ แต่สุดท้ายทุกประเทศที่ไปเจรจากลับถูกขึ้นภาษีเช่นกัน

"ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลเตรียมไว้ คือ การคิดแผนยุทธศาสตร์ และมาตรการรองรับ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเจรจา" นายศุภวุฒิ กล่าว
* เล็งนำเข้าสินค้าเกษตรสหรัฐฯ ใช้จุดแข็งไทย "แปรรูป" ส่งขายทั่วโลก

พร้อมเน้นย้ำว่า รัฐบาลไทย โดยการดำเนินการของคณะทำงาน ได้จัดเตรียมแผนยุทธศาสตร์และมาตรการรองรับไว้แล้ว โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ คือ การปรับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและระบบการค้า ผ่านการใช้จุดแข็งของทั้ง 2 ประเทศ อาทิ การนำเข้าสินค้าการเกษตรของสหรัฐฯ ที่ผลิตได้มากกว่าการบริโภคภายในประเทศถึง 20% มาแปรรูปเป็นอาหาร โดยใช้ความเชี่ยวชาญในการแปรรูปอาหารของประเทศไทย เพื่อส่งออกขายไปทั่วโลก

ซึ่งแนวทางดังกล่าว จะถูกดำเนินการผ่านการสร้างพันธมิตรกับมลรัฐ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคการเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่ประธานาธิบดีทรัมป์ฯ ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ และดำเนินการมาตรการอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การเร่งปราบปรามการสวมสิทธิ์สินค้าจากประเทศอื่น ๆ เพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ควบคู่ไปกับการเปิดการนำเข้าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่เป็นปัจจัยการผลิต และประเทศเราผลิตไม่เพียงพอ รวมถึงสินค้ากลุ่มพลังงานเพิ่มเติม ตลอดจนการเพิ่มการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ

"การดำเนินการดังกล่าวทั้งหมด เป็นไปเพื่อลดภาวะขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ และเปิดบันไดทางลงให้กับสหรัฐฯ เมื่อมาตรการขึ้นภาษี ได้ส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่าที่คาดการณ์" นายศุภวุฒิ ระบุ
* เตรียมเปิดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3,000 ล้านบาท อุ้มภาคเอกชน

นายศุภวุฒิ ยังได้กล่าวถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ว่า รัฐบาลได้เตรียมมาตรการเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือการดำเนินการของผู้ประกอบการในระยะสั้น และเตรียมเงินทุนสำหรับให้ผู้ประกอบการไทยหาตลาดใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงในการส่งออกไปสหรัฐฯ โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า มาตรการเหล่านี้ จะช่วยผู้ประกอบการไทย สามารถปรับตัวได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ การดำเนินการเจรจากับสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นตามขั้นตอนการเจรจา โดยขณะนี้ รัฐบาลได้เตรียมการลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ภายใต้หลักการที่สหรัฐฯ ได้ประโยชน์ และประเทศไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม สำหรับกระบวนการเจรจาต่อรองดังกล่าว ต้องเจรจาในรายละเอียดในระดับเจ้าหน้าที่ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันก่อน ยกเว้นสินค้าที่มีปัญหาที่จะต้องเป็นการเจรจาในระดับรัฐมนตรี ดังนั้น ขั้นตอนนี้จำเป็นต้องให้หัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งคือ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะทำงานเพื่อทำการเจรจา ก่อนที่จะมีการเจรจารอบสุดท้าย เพื่อแก้ไขปัญหาในส่วนค้าสินค้าที่ยังตกลงกันไม่ได้ อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ สำหรับการเจรจาการค้าของสหรัฐอเมริกา

"ประเทศเล็กอย่างเรา ต้องหาอำนาจต่อรอง และต้องสร้างแนวร่วมที่อเมริกา ซึ่งนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ประเมินแล้วว่าต้องไปทางนี้ กับมลรัฐเกษตรของอเมริกา และมันก็เป็นการตอบสนองผลประโยชน์ของเราด้วยว่า เราต้องการจะเป็นผู้แปรรูปอาหารคุณภาพดีไปทั่วโลก ก็ใช้ทรัพยากรที่ดีที่สุดของอเมริกา ขายอะไรให้เรา เราก็จะซื้ออันนั้น ตามความต้องการของเราที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยแนวคิดอันนี้" นายศุภวุฒิ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ