นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้กรมทางหลวง ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส โดยใช้งประมาณรายจ่ายประจำปี สำหรับวงเงินลงทุนที่ฝ่ายไทยต้องรับผิดชอบ รวมทั้งสิ้น 292 ล้านบาทเศษ ระยะเวลาดำเนินการ 36 เดือน ประกอบด้วย
- งานก่อสร้างสะพานคู่ขนาน งานบูรณะสะพานเดิม และงานก่อสร้างถนนเชื่อมฝั่งไทย โดยอนุมัติให้ใช้สัญญาก่อสร้างนานาชาติ (สัญญา FIDIC) ในการบริหารโครงการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐบาลมาเลเซีย โดยเป็นวงเงินที่ฝ่ายไทยรับผิดชอบ 181 ล้านบาท
- งานก่อสร้างทางบริการฝั่งไทย วงเงิน 81.50 ล้านบาท ดำเนินการโดยหน่วยงานของกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม
- งานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ในระยะเตรียมการและระยะก่อสร้าง) วงเงิน 12.15 ล้านบาท
โครงการก่อร้างสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก เป็นการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 2 ช่องจราจร คู่ขนานกับสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก เดิม มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นรูปเรือกอและ ซึ่งสะท้อนศิลปะวัฒนธรรมของทั้ง 2 ประเทศ สะพานคู่ขนานมีความยาว 116 เมตร กว้าง 14 เมตร ระยะห่างระหว่างสะพานเดิมกับสะพานใหม่ 8 เมตร โดยมีทางบริการระดับพื้นเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนที่อยู่อาศัยในชุมชนรถไฟบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำในฝั่งไทย และใช้เขตทางรถไฟในการก่อสร้าง
ปัจจุบัน กรมทางหลวงอยู่ระหว่างขออนุญาตใช้พื้นที่จากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ สะพานคู่ขนานใหม่ขนาด 2 ช่องจราจร จะใช้รองรับการเดินทางฝั่งขาเข้าประเทศไทย ในขณะที่สะพานเดิมขนาด 2 ช่องจราจรใช้ในการเดินทางฝั่งขาออกประเทศไทย
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก
โครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก เป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงระหว่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจของไทยและมาเลเซีย โดยประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการฯ มีดังนี้
1. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของพื้นที่ภาคใต้ สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดน ตลอดจนกระตุ้นการลงทุนในพื้นที่ชายแดนของไทยและมาเลเซีย เกิดการเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงได้
2. เชื่อมต่อระบบคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย โดยจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และคนเดินเท้า และสนับสนุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
3. ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวระหว่างอำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
4. ลดความแออัดของการจราจรบนสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก และพื้นที่บริเวณหน้าด่านที่มีอยู่ในปัจจุบัน ลดความล่าช้าในการเดินทาง
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ครม.ยังอนุมัติการจัดทำและลงนามร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซีย ว่าด้วยการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 และการปรับปรุงสะพานเดิมเชื่อมระหว่างอำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และเมืองรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย