
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ผ่าน X หลังการประชุมติดตามมาตรการการค้าสหรัฐอเมริกาว่า การวางยุทธศาสตร์รับมือมาตรการ Reciprocal Tariff และ liberation day ต้อง ?รู้เขา-รู้เรา-เร็ว-แม่นยำ? ซึ่งการประชุมวันนี้จะเป็นการติดตามสถานการณ์ กำหนดก้าวต่อไปอย่างรอบคอบและแม่นยำ เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทย
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงเช้าที่ผ่านมาได้มอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นหัวหน้าคณะในการเจรจากับทางสหรัฐ พร้อมด้วยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เป็นผู้ร่วมคณะเจรจา มีการประสานนัดหมาย เพื่อทำการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น USTR และหน่วยงานอื่นๆ ของสหรัฐเพื่อนำเอาข้อเสนอของไทยไปพูดคุย พร้อมย้ำว่า การเจรจาไม่ใช่แค่ครั้งเดียวจบ แต่จะต้องใช้เวลาและมีการเจรจาในหลายระดับที่แตกต่างกัน

สิ่งสำคัญที่สุด คือ การวางยุทธศาสตร์และมาตรการต่างๆ คือต้อง "รู้เขา" และ "รู้เรา" วันนี้ เราเห็นนอกจากรูปแบบการตอบโต้ และรับมือต่อนโยบายของนายทรัมป์จากประเทศต่างๆ มีอะไรบ้าง และยังได้เห็นปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวตอบโต้ของประชาชนภายในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้อีกด้วย
และ ยุทธศาสตร์และกระบวนการทำงานของรัฐบาลต้องทั้ง "เร็ว และ แม่นยำ"
เร็ว : ขอย้ำว่าเรามีการจัดตั้งคณะทำงานมาตั้งแต่เดือนมกราคม ซึ่งเราตั้งก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งเป็นทางการเมื่อ 20 มกราคม และได้ประสานงานกับฝั่งทางสหรัฐอเมริกามาตลอด
แม่นยำ : เรามีการเตรียมข้อมูลที่ครบและรอบด้าน มีการติดตามความเคลื่อนไหวจากทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบเพื่อประเมินและหาข้อสรุปในการเจรจาที่จะมีต่อไปจากนี้
"เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดผลกระทบเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ จึงต้องการเตรียมมาตรการรับมือและเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะในระยะสั้น ส่วนในระยะยาวเราจะต้องมองถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการหาตลาดใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เศรษฐกิจไทยไปต่อได้อย่างเข้มแข็ง" น.ส.แพทองธาร ระบุ
ขณะที่นายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวันเดินทางไปเจรจากับทางสหรัฐฯ แต่คง as soon as possible เพราะต้องการใช้เวลาทบทวนเงื่อนไขต่าง ๆ ที่จะนำไปเจรจาให้ดีก่อน
"เวลาไปต้องมั่นใจสิ่งที่จะคุย รมว.และปลัดพาณิชย์ ต้องทำงานต่อ เราต้องมั่นใจสิ่งที่เราทำ กับสิ่งที่เราไปบอก ต้องปฎิบัติได้ ดังนั้นต้องทำงานหนักใน 2 วันนี้เพื่อลงสิ่งที่เราคิดให้ practical และ possible" นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวว่า การที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีไทยที่ 36% ไม่ใช่อัตราภาษีที่สหรัฐฯ อยากจะเก็บ แต่เป็นความต้องการของสหรัฐฯที่อยากลดการขาดดุลการค้าซึ่งมากเกินไปตามสัดส่วนของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นโจทย์ของไทยที่ต้องแก้ไขดุลการค้า และเมื่อมานั่งดูปัญหา พบว่า สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามานาน และฐานการผลิตไม่มีในประเทศ และพึ่งพาการบริโภคและการบริการ และผลที่ตามมาทำให้หนี้ของรัฐบาลสหรัฐ ประมาณ 123% ของจีดีพี ทำให้จ่ายดอกเบี้ยมาก ทำให้สหรัฐฯ ต้องการลดหนี้ลง ลดการเสียเปรียบดุลการค้า และอยากให้ฐานการผลิตย้ายไปสหรัฐฯให้มากที่สุด
เรื่องนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ทำการบ้านมา 2 เดือนกว่าแล้ว โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาข้อแรกที่ไทยจะดำเนินการ คือ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและสินค้าเกษตร โดยวิเคราะห์อย่างละเอียดว่าสินค้าใดที่ไทยขาดแคลนวัตถุดิบ และสามารถนำเข้ามาเติมเต็มห่วงโซ่การผลิตได้ในลักษณะ win-win เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งไทยปลูกได้เพียง 5 ล้านตัน และจำเป็นต้องนำเข้า 4 ล้านตัน จึงจำเป็นต้องซื้อจากสหรัฐฯ เพื่อลดขาดดุลการค้า และราคาสามารถแข่งขันได้และหากซื้อจากสหรัฐฯ จะได้ราคาถูก แต่รัฐบาลจะต้องมาพิจารณาว่า ต้องซื้อปริมาณเท่าไร เพื่อดูแลเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดด้วย รวมถึงผลิตภัณฑ์จากอาหารสัตว์ โดยเฉพาะเครื่องในสัตว์ ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญในการเพิ่มมูลค่าเป็นอาหารสำเร็จรูป การนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าก็ยังสามารถลดความตึงเครียดกับสหรัฐฯ ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้การค้าของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมรองรับการส่งออกในรูปแบบที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง
แนวทางที่สอง การทบทวนภาษีนำเข้าของสินค้า 100 กว่าชนิด โดยรัฐบาลพิจารณาว่าหากมีการผ่อนคลายเงื่อนไขบางประการและบริหารโควต้าให้เหมาะสม จะสามารถเปิดตลาดอย่างมีนัยสำคัญโดยไม่กระทบกับภาคการผลิตในประเทศมากนัก ซึ่งการบริหารความยืดหยุ่นในส่วนนี้จะเป็นการส่งสัญญาณบวกต่อคู่ค้าโดยเฉพาะสหรัฐฯ ในแง่ของความตั้งใจในการลดอุปสรรคทางการค้าและยกระดับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล
แนวทางที่สาม การปรับปรุงกลไกภายในประเทศ เพื่อลดความซ้ำซ้อนทางกฎระเบียบและขั้นตอนนำเข้าสินค้า โดยมุ่งแก้ไขอุปสรรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษี (Non-Tariff Barriers) ที่อาจเป็นต้นเหตุให้สหรัฐฯ มองว่าประเทศไทยมีพฤติกรรมกีดกันทางการค้าโดยไม่จำเป็น ซึ่งการปรับปรุงนี้จะทำให้ไทยดูดีในเวทีการเจรจาระหว่างประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพระบบภายในประเทศ ลดภาระของผู้ประกอบการ และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและนวัตกรรม
แนวทางที่สี่ หาทางรับมือกับประเด็นที่สหรัฐฯ กังวลเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าราคาต่ำผิดปกติจากประเทศที่สาม ซึ่งอาจใช้ไทยเป็นทางผ่านหรือแหล่งเลี่ยงภาษี เพื่อเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ รัฐบาลจะใช้มาตรการคัดกรองสินค้านำเข้าอย่างรอบคอบ ตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเข้มงวด และดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ไทยตกเป็นเป้าหมายของการกล่าวหาว่าช่วยหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีของประเทศที่สาม ทั้งยังเป็นการรักษาภาพลักษณ์ของไทยในฐานะประเทศคู่ค้าที่มีธรรมาภิบาล
แนวทางที่ห้า การพิจารณาปรับโครงสร้างการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมีที่ไทยเริ่มขาดแคลนวัตถุดิบและทรัพยากร เช่น ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งไทยอาจจำเป็นต้องนำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งพบว่า มีต้นทุนที่ถูก หากไม่รวมค่าขนส่ง ต้นทุนอยู่ที่ 2 เหรียญกว่า แต่ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยอยู่ที่ 5 เหรียญกว่า รวมถึงสหรัฐฯอยากเห็นนักลงทุนไปลงทุนในสหรัฐ เช่น ไทยเชี่ยวชาญด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร อาจมีการไปตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรในสหรัฐ ขายในสหรัฐและขายไปทั่วโลก ซึ่งบริษัทที่จะไปลงทุนต้องมีศักยภาพ และเป็นบริษัทที่เป็นมีความต้องการในสินค้านั้นเป็นพื้นฐาน และมั่นใจว่า เรื่องของเงินทุนไม่มีปัญหาเพราะเรามีสถาบันการเงินที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ
นายพิชัย กล่าวว่า รมว.พาณิชย์จะไปทำในรายละเอียดทั้งหมดว่า เรื่องใดบ้างต้องนำเข้าครม. หรือเรื่องใดออกแค่ประกาศ แล้วจะไปเจรจากับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ส่วนตนจะดูในภาพรวมตามการสั่งการของนายกรัฐมนตรี และไทยจะไม่รีบพูด เพราะคนที่ไปพูดและเสนอลดภาษี กลายเป็นพูดฟรี ลดฟรี ไม่ได้อะไรเกิดขึ้น แต่สิ่งที่เราทำต้องไปแก้ปัญหาของเขา และถ้าเราคิดว่า เราอ่านโจทย์ได้เราจะเดินตาม และไม่รีบต้องไปเจรจาทันทีภายในวันพรุ่งนี้ แต่จะขอเวลาทำโจทย์ให้ละเอียดก่อน ทำให้ชัดเจนว่า 1-5 ปีหลังจากนี้จะเกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และเชื่อว่าหลังจาก 5 ปีไปแล้ว อาจเกิดสมดุลการค้าได้
ส่วนอาจจะมีบางอุตสาหกรรมที่อาจชะลอการลงทุนในไทยนั้น นายพิชัย ยอมรับว่า คนที่จะลงทุนนอกประเทศ อาจจะขอหยุดหายใจคิดก่อน เพราะช่วงนี้ฝุ่นตลบ ต้องคิดว่า ควรจะลงทุนในไทยดีหรือไม่ หรือลงทุนในประเทศตัวเอง หรือลงทุนในสหรัฐฯ ต้องคิดจนตกผลึกก่อน
ส่วนจำเป็นต้องมีมาตรการอื่นเสริมหรือไม่ เช่น การลดดอกเบี้ยนโยบายนั้น นายพิชัย กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายของไทย พึ่งพิง 2 ปัจจัย คือ ดูเรื่องค่าเงินเฟ้อและดูเรื่องความเสี่ยงของการลงทุน และความปลอดภัยของสถาบันการเงิน แต่สิ่งสำคัญเรื่องดอกเบี้ยต้องดูที่ทิศทางการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งเดาใจว่า สหรัฐอยากเห็นดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งในอัตราดอกเบี้ยของไทยก็ต้องทำให้สอดคล้องกับของโลก
"ผมคิดว่า เป็นความจำเป็นของประเทศเขาที่ต้องทำสิ่งเหล่านี้ เราพอเข้าใจ แต่สิ่งที่เราจะทำ เราจะดูว่า เราต้องการอะไร มีขีดความสามารถอะไร แก้ปัญหาแล้วได้ประโยชน์ด้วย เราต้องมั่นใจสิ่งเหล่านั้น เป็นคู่แมทช์กับอเมริกาพอดี อยากให้ความมั่นใจว่า วิธีการแก้ปัญหาของประเทศผ่านการคิดอยู่เสมอ และต้องการแก้ปัญหาเป็น win win solution ดีทั้งอเมริกา ดีทั้งเรา...หากพิจารณาให้ลึกซึ้งจะพบว่าเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยสามารถยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศให้ทันสมัย แข่งขันได้ และเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลกมากขึ้น"นายพิชัย กล่าว