ดอลล์อ่อนค่าที่ตลาดออสเตรเลียเช้านี้ หลังเฟดปรับลดคาดการณ์ศก.ปี 2551

ข่าวต่างประเทศ Thursday May 22, 2008 09:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงที่ตลาดปริวรรตเงินตราออสเตรเลียเช้าวันนี้ (22 พ.ค.) โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องจากระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือนเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรเมื่อคืนที่ผ่านมา และอ่อนค่าต่ำสุดเทียบเยนในรอบสัปดาห์ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดประมาณการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจประจำปี 2551
สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงานว่า ณ เวลา 07.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะที่ 102.86 เยนต่อดอลาร์ ลดลงจากระดับ 103.04 เยนต่อดอลลาร์ที่ตลาดนิวยอร์กคืนวานนี้ ขณะที่เงินยูโรซื้อขายกันที่ระดับ 1.5794 ดอลลาร์ต่อยูโร จากระดับ 1.5795 ดอลลาร์ต่อยูโร
รายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ระบุว่า เฟดได้ปรับลดคาดการณ์การการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2551 ลงเหลือ 0.3-1.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 1.3-2% ขณะเดียวกันก็ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อมาอยู่ที่ 3.1-3.4% จากเดิมที่ 2.1-2.4% และส่งสัญญาณว่าจะยังไม่ปรับลดดอกเบี้ย
ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวประกอบกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นได้ส่งผลให้สหรัฐเผชิญกับภาวะ stagflation ที่สร้างความตื่นตระหนกต่อตลาดหุ้นสหรัฐมาเป็นระลอกๆ ขณะที่รายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ซบเซาเมื่อช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้เงินดอลลาร์ตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน ตรงข้ามกับรายงานตัวเลขเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในเขตยูโรโซนที่แข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งรวมถึงการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของสถาบัน Ifo ในเดือนพ.ค.ที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 103.5 จุดจาก 102.4 จุดในเดือนเม.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงไปอยู่ที่ 101.9 จุด
เอียน คอร์ปซีย์ นักวิเคราะห์จากโกลบอล ฟอเร็กซ์ เทรดดิ้ง กล่าววา "ผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนีของสถาบัน Ifo ที่ดีเกินคาดกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงและทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในประเทศยุโรปซึ่งจะส่งผลดีต่อค่าเงินยูโร"
ด้านจอห์น นูนาน นักวิเคราะห์จากธอมสัน ไอเอฟอาร์ มาร์เก็ตส์กล่าวว่า เงินดอลลาร์สหรัฐกำลังเผชิญแรงกดดันอีกครั้งหลังจากที่มีการเปิดเผยมุมมองของเฟดที่มีต่อเศรษฐกิจในปีนี้
เขากล่าวว่า นักลงทุนมองว่ารายงานหลังการประชุมของเฟดเป็นเสมือนการส่งสัญญาณเตือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะ "stagflation" ซึ่งก็คือสถานการณ์ที่เศรษฐกิจชะงักงันแต่อัตราเงินเฟ้อสูง
"เฟดส่งสัญญาณว่ายังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไป แต่การคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังซบเซาและคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดส่วนใหญ่รู้สึกว่าพวกเขายังไม่ควรปรับขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ " นูนานกล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ