หอการค้าฯ ห่วงภาษีทรัมป์ฉุด "ส่งออกเละ" หลังมิ.ย.อ่วมแน่ หากเจรจาสหรัฐไม่คืบ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 9, 2025 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หอการค้าฯ ห่วงภาษีทรัมป์ฉุด

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย ยอมรับว่า การประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทยที่ 36% ของสหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มมีผลในวันที่ 9 เม.ย.นั้น ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ คือ ไม่เห็นความชัดเจนในเรื่องของอัตราภาษีที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บจากสินค้าไทย เพราะยังต้องมีขั้นตอนเจรจาต่อรองกันอีก ซึ่งทำให้ระหว่างนี้เกิดความไม่แน่นอนกับสินค้าที่เตรียมจะขนส่งทางเรือไปยังสหรัฐ, การกำหนดราคาซื้อขายล่วงหน้าที่ต้องคำนวณอัตราภาษีใหม่ ว่าใครจะเป็นผู้รับภาระภาษีนี้ ระหว่างบริษัทนำเข้าในสหรัฐฯ หรือบริษัทผู้ส่งออกของไทย รวมทั้งการบริหารสต็อกสินค้า และคำสั่งซื้อใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต

"ถ้าผู้นำเข้า จะบอกให้ภาระภาษีอยู่ที่ประเทศไทย หรือผู้ส่งออก ก็จะทำให้ราคาไม่สามารถขายได้ เพราะโดนภาษีสูงเหลือเกิน แต่ถ้าเป็นภาระของผู้นำเข้า ก็โอเค ผู้นำเข้าก็ไปบวกราคาเพิ่มเข้าไป แล้วค่อยไปขาย แต่ก็จะมีปัญหาตามมา คือทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นอีกเยอะ ตลอดห่วงโซ่ในสหรัฐ ซึ่งจะกระทบต่อผู้บริโภคว่าจะมีกำลังซื้อหรือไม่ นี่คือคำถามใหญ่ ที่กระทบให้ order สินค้าลดลง จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง นี่คือผลกระทบในแง่ของภาคธุรกิจที่จะเกิดขึ้น" ประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุ

พร้อมมองว่า แม้มูลค่าความเสียหายในขณะนี้ยังจะไม่สามารถคำนวณออกมาได้ แต่การเสียโอกาสย่อมมีมากแน่ ซึ่งหากการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะทำได้เร็ว ผลกระทบที่จะมีต่อการส่งออกของไทยในเดือนเม.ย. หรือ พ.ค.นี้ก็อาจจะไม่มากนัก แต่หากยังไม่สามารถเจรจากันได้ เชื่อว่าการส่งออกของไทยตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นไปน่าจะมีปัญหาใหญ่แน่ เพราะไม่สามารถส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ ได้

"ความเสียหายตอนนี้ยังไม่เห็น แต่เสียโอกาสเยอะแน่ เพราะตอนนี้สินค้าที่จะลงเรือ ก็อิหลักอิเหลื่อ จะขายใหม่ ก็ไม่รู้จะซื้อขายกันอย่างไร นี่คือการเสียโอกาส ดังนั้นความน่าเป็นห่วง คือ ถ้าสหรัฐต่อเวลาให้ถึงเดือน 7 หรือจนกว่าจะเจรจากันจบ ก็อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกในเดือนเม.ย. พ.ค.ไม่มากนัก แต่ถ้าเคลียร์ไม่จบ เดือนมิ.ย.นี้เรื่องใหญ่แน่ เพราะจะส่งไปขายสหรัฐฯไม่ได้" นายพจน์ กล่าว

นายพจน์ กล่าวว่า หากจะให้มองผลกระทบจากมาตรการภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในรอบนี้ จากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ล่าสุดในปัจจุบัน เชื่อว่า การส่งออกของไทยเสียหายหนักแน่ เพราะไม่ใช่แค่เพียงที่ไทยส่งออกไปสหรัฐไม่ได้ แต่ไทยจะส่งไปประเทศอื่นได้ยากลำบากเช่นกัน เนื่องจากประเทศอื่นก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกับไทยที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษี ซึ่งสร้างผลกระทบในระดับโลก

"ตอนนี้ มันยังไม่มีอะไรนิ่ง แต่ถ้าโจทย์เป็นแบบตอนนี้ ส่งออกเละ อย่าลืมว่า ประเทศอื่นก็เจอปัญหาเหมือนกัน ส่งออกไม่ได้ เศรษฐกิจเสียหาย เรื่องนี้อย่ามองแค่เป็นปัญหาสหรัฐกับไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาโลก" นายพจน์กล่าว

พร้อมระบุว่า การเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ นั้น ควรอยู่ภายใต้หลักการที่เป็น fair balance ให้เขามีความพึงพอใจ ในขณะที่ไทยเองก็ไม่เสียหายมาก แต่ยอมรับว่าทุกการเจรจาย่อมมีคนได้ และคนเสีย ซึ่งหากไทยเอง ถ้าอยากจะได้บางอย่าง ก็อาจต้องเสียบางอย่าง และในสิ่งที่เสียไปนั้น ก็เป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยชดเชยให้

"เรามีหน้าที่เตรียม proposal ที่ดีที่สุด ที่ fair balance ระหว่างไทย-สหรัฐ ให้เขาพึงพอใจ ในขณะที่เราก็ไม่เสียหายมาก แต่การเจรจาทุกอย่างย่อมมีคนได้ คนเสีย ทางเราเอง ถ้าจะให้ได้บางอย่าง อาจจะต้องเสียบางอย่าง ส่วนจะเสียอะไรไปบ้างนั้น ก็เป็นหน้าที่รัฐจะต้องไปชดเชยให้ แต่ถ้าทางเราจะยืนยันว่าไม่ได้อย่างเดียว ก็คงไม่จบ" ประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุ

สำหรับ 5 แนวทางที่ไทยจะดำเนินการ ซึ่งนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้แถลงไปเมื่อวานนั้น นายพจน์ มองว่า ภาคเอกชนมีความพอใจ เพราะส่วนใหญ่เป็นแนวทางที่หอการค้าไทย ได้เคยนำเสนอไว้กับทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เดือนก.พ.-มี.ค. และเชื่อว่ามาถูกทางแล้ว

ส่วนการตั้งคณะกรรมการใน 4 ระดับเพื่อมาดูแลเรื่องการเจรจากับสหรัฐฯ นั้น นายพจน์ มองว่า การแก้ปัญหาในรอบนี้ควรมีทีมเดียว โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้สามารถใช้อำนาจสูงสุดในการตัดสินใจได้ โดยมีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง พร้อมภาคเอกชนเข้าร่วมด้วย ส่วนทีมเจรจา ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะแต่งตั้งใคร และหากต้องการให้เอกชนร่วมด้วย ก็ยินดี

"องคาพยพนี้ดี แต่ควรเป็นแค่อนุกรรมการ วันนี้ประเทศต้องมีทีมเดียวในการแก้ปัญหารอบนี้ นายกฯ ต้องเป็นประธานรอบนี้ ส่วนจะมอบให้รองนายกฯ คนไหนมาช่วย ค่อยว่ากัน แต่รอบนี้นายกฯ ต้องเป็นคนเคาะ แล้วให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้ามาอยู่ในคณะนี้หมด ทั้งพาณิชย์ เกษตร อุตสาหกรรม สาธารณสุข รวมทั้งภาคเอกชน จากนั้นค่อยแยกเป็นคณะอนุกรรมการฯ ชุดต่าง ๆ ออกมาอีกที" นายพจน์ กล่าว

พร้อมย้ำว่า ผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ในรอบนี้เรียกได้ว่าเป็นวิกฤติระดับโลก เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ Demand Chain และ Supply Chain เพี้ยนไปหมดทั่วโลก สินค้าจากที่บางประเทศเคยขายได้ เมื่อขายไม่ได้ก็จะทะลักเข้ามาในเอเชีย ดังนั้น ภาคเอกชนจึงอยากเสนอให้รัฐบาลตั้งทีมงานพิเศษขึ้น ไม่ใช่เฉพาะทีมแก้ปัญหากรณีภาษีของสหรัฐฯเท่านั้น แต่ต้องเป็นทีมที่ภาครัฐและเอกชนมานั่งคุยแล้วมองภาพรวมทั้งหมดว่า ความสับสนของเศรษฐกิจโลกรอบนี้ เราจะทำกันอย่างไร เพราะปี 2568 เรื่องนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่มากของไทย ที่จะต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน จะต่างฝ่ายต่างทำไม่ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ