
นายวชิร คูณทวีเทพ รองอธิการบดีฝายยุทธศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนมี.ค.68 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24-31 มี.ค.68 พบว่า ดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 48.9 ลดลงจากระดับ 49.4 ในเดือนก.พ.68 ลดลงครั้งแรกในรอบ 2 เดือน
โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ปรับตัวลดลงครั้งแรกของปีนี้ (นับตั้งแต่ม.ค.68) เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจมีความไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจจากหลายปัจจัย เช่น ความกังวลปัญหาสงครามการค้า สถานการณ์ผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว ปัญหาค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น ซึ่งจากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบธุรกิจ จะพบว่าดัชนีปรับลดลงจากเดือนก.พ. ทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็นดัชนีด้านการบริโภค, การลงทุน, การท่องเที่ยว, การเกษตร, อุตสาหกรรม, การค้า, การค้าชายแดน, ภาคบริการ และการจ้างงาน

"แม้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหากำแพงภาษีของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนในหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้น การค้าของประเทศคู่ค้าหลักมีปัญหา ซึ่งหากสัญญาณเศรษฐกิจมีปัญหา ก็ยิ่งสร้างความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ท่องเที่ยว" นายวชิร ระบุ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เดือนมี.ค.68 เป็นดังนี้
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 48.9 ลดลงจากเดือนก.พ.68 ซึ่งอยู่ที่ 49.6
- ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 48.5 ลดลงจากเดือนก.พ.68 ซึ่งอยู่ที่ 49.1
- ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 52.2 ลดลงจากเดือนก.พ.68 ซึ่งอยู่ที่ 52.5
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 47.9 ลดลงจากเดือนก.พ.68 ซึ่งอยู่ที่ 48.1
- ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 48.9 ลดลงจากเดือนก.พ.68 ซึ่งอยู่ที่ 49.3
- ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 47.7 ลดลงจากเดือนก.พ.68 ซึ่งอยู่ที่ 48.0
ปัจจัยลบที่มีผลต่อดัชนีฯ ในเดือนมี.ค. ได้แก่
1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และแนวทางนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และการตอบโต้ของประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบของนโยบาย Trump 2.0
2. ความกังวลต่อผลกระทบของเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคเหนือ ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุน ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่อาจจะลดลง
3. เศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพ รวมถึงผู้บริโภคมีการระมัดระวังการจับจ่าย ส่งผลกระทบต่อยอดขายของธุรกิจที่อาจจะไม่เติบโต รายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น
4. ผู้ประกอบการกังวลกับปัญหาของผลกระทบที่คาดว่าไทยโดนมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ
5. ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ปกคลุมพื้นที่ และการเผาไหม้ในพื้นที่การเกษตร ส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตของประชาชน
6. SET Index เดือน มี.ค.68 ปรับตัวลดลง 45.63 จุด จาก 1,203.72 ณ สิ้นเดือน ก.พ.68 เป็น 1,158.09 ณ สิ้นเดือน มี.ค.68
7. เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อย สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
8. สถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ
ส่วนปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีฯ ในเดือนมี.ค. ได้แก่
1. รัฐบาลมีความคืบหน้าที่จะดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3 ในกลุ่มอายุ 16-20 ปี
2. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3. การส่งออกของไทยเดือน ก.พ.68 ขยายตัว 14% มูลค่า 26,707 ล้านดอลลาร์ และเดือนนี้ไทยกลับมาเกินดุลการค้า
4. ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง
5. เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลผลไม้ ทำให้อุปสงค์สินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้น
6. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกร ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจมีแนวทางเสนอต่อภาครัฐในการแก้ไขปัญหา ดังนี้
- ให้การสนับสนุน SMEs ผ่านมาตรการทางการเงิน เช่น การพักชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการเพิ่มวงเงินกู้
- การบริหารจัดการน้ำเพื่อจัดสรรให้เพียงพอ และเหมาะสมกับภาคการเกษตร อุปโภค-บริโภค และรวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
- ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ โดยเฉพาะการลดขั้นตอน และกฎระเบียบที่ซับซ้อน
- แผนการรองรับต่ออุปสรรคของสินค้าไทยที่ประเทศคู่ค้ากำหนดขึ้นมา เพื่อจำกัดขีดความสามารถการส่งออก
- การส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนด้านธุรกิจ เช่น การพัฒนาผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ การพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ